พม. จัดเสวนา เรื่อง “คุกคาม ข่มขืน...ภัยอันตรายจากอำนาจในสังคมไทย” ช่วยหาทางออกแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พม. จัดเสวนา เรื่อง “คุกคาม ข่มขืน...ภัยอันตรายจากอำนาจในสังคมไทย” ช่วยหาทางออกแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65  เวลา 09.40 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนา เรื่อง “คุกคาม ข่มขืน...ภัยอันตรายจากอำนาจในสังคมไทย” พร้อมกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีของกระทรวง พม. โดยมีผู้ร่วมการเสวนา ประกอบด้วย 1. นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 2. นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 3. นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม 4. พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 และ 5. คุณเปา (นามสมมติ) ผู้มีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งมีนางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ
นางพัชรี กล่าวว่า จากกรณีผู้เสียหายจากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทั้งการถูกข่มขืนกระทำชำเรา (Rape) และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) การใช้อำนาจและตำแหน่งในหน้าที่การงาน ซึ่งอาจมีการให้คุณให้โทษเพื่อใช้เป็นเหตุในการกระทำความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีการตีตราและการกล่าวโทษต่อผู้เสียหาย (Victim Blaming) ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น ๆ 
รวมทั้งความเคยชินกับการนำเสนอภาพลักษณ์หรือให้คุณค่าต่อหญิงชายที่แตกต่างกัน และความเข้าใจผิดว่าประเด็นความรุนแรงหรือคุกคามทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งค่านิยมสังคมไทยหลายๆ อย่างที่ถูกสั่งสอนและถ่ายทอดกันมา ได้กดทับให้ผู้หญิงรู้สึกมีความผิด คือการ “โทษเหยื่อ” (Victim Blaming) ซึ่งผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศหลายคนไม่กล้าที่จะร้องเรียน แจ้งความ หรือจัดการปัญหา เนื่องจากกลัวว่า จะถูกสังคม “ด้อยค่า” และเป็นเรื่องที่อยากลืม แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีผู้ชายเป็นจำนวนมากตั้งแต่ชั้นพนักงานสืบสวน ยิ่งเกิดความอับอายเหมือนถูกล่วงละเมิดซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้ สหวิชาชีพจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทและมีความละเอียดอ่อนในมิติทางเพศมากขึ้น โดยเฉพาะกรณี “เหตุเกิดในครอบครัว” ที่ผู้ถูกกระทำมักจะถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่าในครอบครัวข่มขู่หรือใช้กำลังเพื่อให้เรื่องเงียบ
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งมีเจตนารมณ์ที่ไม่ยอมรับและไม่นิ่งเฉยกับการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ วันนี้ จึงได้จัดงานเสวนาเรื่อง “คุกคาม ข่มขืน...ภัยอันตรายจากอำนาจในสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักและเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ก่อให้เกิดความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาทำความรุนแรงทางเพศต่อสตรี โดย 1) สร้างความตระหนักให้สังคมว่า การคุกคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) 


อีกทั้งสร้างความตระหนักถึงความกล้าหาญของผู้หญิงในการก้าวข้ามความยากลำบากที่ไม่ยอมจำนน และกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตน 2) ให้สังคมยุติวัฒนธรรมการกล่าวโทษผู้เสียหาย (Stop Victim Blaming) โดยการยุติการกล่าวโทษต่อผู้เสียหายว่ามีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น เช่น การยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงทางเพศโดยการแต่งตัวของผู้ถูกกระทำ หรือการตั้งข้อสงสัยต่อผู้ถูกกระทำที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนเมื่อถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า 3) ดำเนินการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเฉพาะการเยียวยาทางจิตใจของผู้เสียหาย รวมทั้งระบบส่งต่อที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และผู้เสียหายจากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศสามารถเข้าถึงศูนย์ให้คำปรึกษาและการเยียวยาทางจิตใจ โดยทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ทางสายด่วน พม. โทร. 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคมของกระทรวง พม. แอพพลิเคชั่น Line : @linefamily เว็บไซต์ระบบเพื่อนครอบครัว www.เพื่อนครอบครัว.com ของ สค. บริการ 24 ชั่วโมง 4) ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ และพิทักษ์สิทธิสตรี สร้างองค์ความรู้ต่อสาธารณชน มุ่งปรับเจตคติในเรื่องความเสมอภาค ให้ยอมรับความแตกต่าง เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และไม่กระทำการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และ 5) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันยุติการกระทำความรุนแรงทางเพศในทุกรูปแบบ การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาเชิงสังคมในเรื่องทัศนคติความเสมอภาคระหว่างเพศ 

ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องผลักดันให้เป็นเรื่องประเด็นทางสังคมในการสร้างความรับรู้ และดำเนินการร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง โดยการขับเคลื่อน ผลักดัน และมีกลไกการสนับสนุนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงในระบบการศึกษา ทำให้ประชาชนทั่วไปคิดว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นความผิดทางอาญา และเป็นประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อคนในสังคมสำหรับการรับรู้และเข้าใจต่อการคุกคามทางเพศและสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ทั้งในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และโลกออนไลน์อีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวง พม. ขอรับรองว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกระทำทุกคน โดยสามารถขอรับความคุ้มครองช่วยจากกระทรวง พม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น