ปลัด มท. เชิญชวน 878 นายอำเภอทั่วประเทศ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอำเภอนำร่อง สร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ปลัด มท. เชิญชวน 878 นายอำเภอทั่วประเทศ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอำเภอนำร่อง สร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง


ปลัด มท. เชิญชวนนายอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างตัวแบบความสำเร็จ “ต้นแบบการทำงาน” เพื่อความผาสุกของประเทศไทย และความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่  28 พ.ค. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย โดยกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยเปรียบเปรยว่า “นายอำเภอที่ดีสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้” ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความไว้วางใจและมอบหมายให้คนมหาดไทย ได้ช่วยกันในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองในนามของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและ พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร มาเป็นแนวทางช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความอยู่รอด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน จึงถึงเวลาแล้วที่ชาวมหาดไทยจะต้องช่วยกันเฟ้นหาผู้นำในพื้นที่ที่มีใจ มีความปรารถนา (Passion) ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อร่วมผนึกกำลังทุกภาคส่วน สร้าง “นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง”

“กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่เก่าแก่อยู่คู่กับประเทศชาติมาอย่างยาวนานถึง 130 ปี และกำลังก้าวสู่ปีที่ 131 ในการเป็นกระทรวงหลักที่ทำหน้าที่สำคัญ คือ รักษาความมั่นคงภายใน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะตำแหน่งใดในกระทรวงมหาดไทย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ เรื่องใหญ่ที่คนมหาดไทย ต้องคำนึงถึงเสมอ คือ การช่วยเหลือน้องประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความรักความสามัคคี เพื่อให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ และดูแลไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องทุกข์ร้อนจากปัญหาต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด และปัญหาอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนา และทำนุบำรุงให้พี่น้องประชาชนมีการมีงานทำ สามารถทำมาหากิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา ตลอดชีวิต เพื่อนำพาให้เกิดสิ่งที่ดีในสังคมให้ได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า จากการที่ท่าน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปรียบเปรยว่า นายอำเภอที่ดีสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พวกเราในฐานะ “คนมหาดไทย” เองก็เชื่อเช่นนั้นว่า นายอำเภอทุกคน คือ นายกรัฐมนตรีของอำเภอที่มีหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการต้องทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน และทุกภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งข้าราชการทุกกระทรวง กรม ในพื้นที่ ผู้นำภาควิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้นำภาคธุรกิจ ผู้นำภาคเอกชน ผู้นำภาคประชาสังคม ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและของทุกกระทรวง แปลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยในขณะนี้ ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม ThaiQM ที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจ (Re X-Ray) ข้อมูลพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งนายอำเภอได้บูรณาการร่วมกับข้าราชการ และประชาชนจิตอาสา สามารถทำการสำรวจไปแล้ว ร้อยละ 80 พบว่า มีผู้เดือดร้อนอยู่ถึงเกือบ 5,000,000 ครัวเรือน และมีบางส่วนที่ตรงกับระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันหมายความว่า ในตอนนี้คนมหาดไทยรู้แล้วว่ามีพี่น้องประชาชนที่จะต้องไปให้ความช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อยู่เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ เรารู้ว่าครัวเรือนไหนเดือดร้อน ทุกข์ร้อนเรื่องอะไร อาทิ บางครัวเรือนทุกข์ร้อนเรื่องการไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีเงินส่งลูกส่งหลานเรียนหนังสือ หรือไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง หรือแม้แต่มีคน 200,000 กว่าครัวเรือน ไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะใช้ในครัวเรือน แต่ปัญหาที่น่าตกใจอีกปัญหา คือ การได้รับโอกาสทางการศึกษาของเด็กที่มีอายุระหว่าง 3 – 5 ขวบ ที่พบว่ามีจำนวนเป็นหลักแสนคนที่ไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้และพัฒนาในศูนย์เด็กเล็ก หรือแม้แต่เด็กอายุ 6 - 14 ปี (ป.1 – ม.ต้น) จำนวนหนึ่ง ไม่ได้เข้าเรียนตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวมหาดไทยทุกคนจะต้องช่วยกันเฟ้นหาผู้นำในพื้นที่ที่เป็นนักบูรณาการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ในการทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรีที่ดีที่อำเภอ” เราเชื่อมั่นว่านายอำเภอทุกคนมีใจ มีแรงปรารถนา มี Passion ที่อยากจะทำงาน ด้วยกลวิธีและรูปแบบการทำงานที่ดี ที่หลากหลาย แตกต่างกันไป ดังนั้น หากแนวทางหรือกระบวนการทำงานเหล่านี้ ถูกเก็บไว้กับตัวนายอำเภอเอง หรือหากเกษียณไปพร้อมกับท่านนายอำเภอที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ หรือเลื่อนตำแหน่ง ย้ายตำแหน่ง สิ่งที่ดี ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ก็จะหายไป เพราะบทเรียนจากการสั่งสมปฏิบัติราชการของท่านนายอำเภอทุกคน ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว ต่างเป็นประสบการณ์ที่มีความสำคัญ ซึ่งจะเป็น “ต้นแบบในการทำงาน” ของคนมหาดไทยทุกคน

"ขอเชิญชวนท่านนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ สมัครเข้าร่วม “โครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย” ที่สำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด ภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2565 และจะดำเนินการคัดเลือกอำเภอนำร่องฯ ระดับจังหวัด จังหวัดละ 1 อำเภอ โดยรอบสุดท้ายจะทำการคัดเลือกอำเภอนำร่องฯ ระดับกลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัดละ 1 อำเภอ เพื่อจะเป็น "สุดยอด 18 นายอำเภอของประเทศไทย" เป็นทีมในการ Change for Good บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน มาช่วยทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงามที่มีความสุขอย่างยั่งยืน และทำให้ทุกคนในสังคมได้รู้ว่า “คนมหาดไทยเป็น Momentum for Change” ซึ่งการรวมพลังนายอำเภอเข้าสู่ “โครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย” ในครั้งนี้ ไม่มีคำว่า จะสำเร็จหรือจะล้มเหลว เพียงแค่ทุกคนมีใจและตั้งใจที่จะทำก็ถือว่าสุดยอดแล้ว (It’s ok to fail.) เพราะนายอำเภอทุกท่านคือ “ทีมมหาดไทย” ที่ทรงพลังแห่งการเป็นนักประสาน นักบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ อันจะยังผลทำให้ประเทศชาติเกิดความผาสุก และทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น