ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมวันนักเขียน 5 พฤษภาคม ปี 2565 พร้อมการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณ นักเขียน กวี นักหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการอาวุโส ประกอบด้วย รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ปี 63,64 ,รางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2565 และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงหรือ MERLA ประจำปี 2564 ตลอดจนการมุทิตาจิตแด่ ศิลปินแห่งชาติ และอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รวมทั้งขอบคุณแขกผู้ใหญ่ แขกผู้มีเกียรติ นักดนตรีทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก ผู้มีอุปการะคุณ ทุกๆท่านที่ได้มอบความเอื้ออาทร แก่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในการจัดกิจกรรมวันนักเขียน ณ ห้องวิสุทธิกษัตริย์ ชั้น 6 โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้
-มีผู้มารับด้วยตัวเองประกอบด้วย
ผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2563
-คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
-รองศาสตราจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา
-นายไพบูลย์ สำราญภูติ (ศรี อยุธยา, คีตา พญาไท)
-นายมังกร แพ่งต่าย
-นายเวทิน ศันสนียเวทย์
ผู้รับรางวัลประจำปี 2564
-นายกิติกร มีทรัพย์
-นายทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์
-นายปองพล อดิเรกสาร
-นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร
-นายสมพจน์ สิงห์สุวรรณ
-นายสันติ เศวตวิมล (แม่ช้อย นางรำ)
-นางสุภา สิริสิงห (โบตั๋น)
-นายสุวัฒน์ ไวจรรยา
-นายอรุณ เวชสุวรรณ (อรุโณทัย)
รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ มาจากพระนาม พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิมคือ " หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ" โอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่ 4 ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2434 พระองค์เป็นทั้งนักการศึกษา นักการทูต และนักประพันธ์ ทรงออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และนิพนธ์ วิทยาวรรณกรรม
พระนิพนธ์วิทยาวรรณกรรม ทรงนิพนธ์ระหว่าง พ.ศ.2477-2478 เนื้อหาว่าด้วยทรรศนะต่อวรรณคดี เสมือนรวมศาสตร์เกี่ยวกับวรรณคดีไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านปรัชญา วรรณศิลป์ การใช้สัญลักษณ์ รสนิยมการอ่านวรรณคดี และบทบาทหน้าที่ของวรรณคดี นับเป็นต้นธารด้านวิชาการสายหนึ่งของ "วรรณกรรมไทย"
เมื่อปี พ.ศ.2544 เป็นปีที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ครบการก่อตั้งปีที่ 30 ในปีเดียวกันนั้น ศ.พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ครบรอบ 110 พรรษา และยัง ครบ 10 ปี ที่ "ยูเนสโก" ประกาศยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยสมัยนั้น นายประภัสสร เสวิกุล ได้ดำริตั้งรางวัล "นราธิปพงศ์ประพันธ์" ขึ้น และมักเรียกกันติดปากว่า "รางวัลนราธิปฯ"
(หมายเหตุ: รายชื่อผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด ได้ประกาศในเพจและเวบไซต์สมาคมนักเขียน ก่อนหน้านี้)
การมอบรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2565 และเป็นคนที่ 31 ของรางวัลนี้
แก่"กิเลน ประลองเชิง" หรือนายประกิต หลิมสกุล แห่งคอลัมน์ดัง"ชักธงรบ" ในหน้า 3 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง (บางคมบาง) ประธานกองทุนศรีบูรพา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2557
"ศรีบูรพา"นับเป็นรางวัลเกียรติยศของคนวงการหนังสือพิมพ์ ตามข้อความที่ อ.ชมัยภร กล่าว ในหนังสือปากไก่ ฉบับประจำปี 2565 ว่า "กิเลน ประลองเชิง"เป็นนักหนังสือพิมพ์มายาวนานเกือบ 50 ปี มีประสบการณ์ทั้งจากการใช้ชีวิต ทั้งที่เกือบตายในทะเล การเป็นนักหนังสือพิมพ์และเกือบตายจนรีบลาออก แล้วหวนกลับมาใหม่ "กิเลน"เป็นคนที่อ่านหนังสือมากและหลากหลาย เหล่านี้จนทำให้กลายเป็นผู้มีวิชารู้จักมนุษย์ โดยเรียนรู้ความเป็นมนุษย์จากตัวเองเป็นเบื้องต้น และจากประสบการณ์ในการทำงานเป็นประการต่อมาจนสามารถเข้าใจและเขียนถึงมนุษย์ทั้งตนเองและคนอื่นได้อย่างสมจริง จับใจ ผ่านทั้งการเขียนข่าวและคอลัมน์...เป็นสุภาพบุรุษนักหนังสือพิมพ์แบบ"กุหลาบ สายประดิษฐ์" หรือ "ศรีบูรพา"ด้วยอ.สกุล บุณยทัต กรรมการกองทุนศรีบูรพา และนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ตัดสินรางวัล กล่าวถึง "กิเลน ประลองเชิง" ว่า เป็นคนอ่านหนังสือมากและยกข้อความในหนังสือมาเทียบกับเหตุการณ์ ไม่เคยถูกแบ่งว่าเป็นสีอะไร ถ้านักอ่านได้อ่านคอลัมน์ของกิเลน ประลองเชิง จะพบว่าหนังสือที่ยกมาเป็นหนังสือคลาสสิกไม่ได้อ้างแบบครูพักลักจำ แต่ลึกลงไปตีความจนแตกซึ่งการเขียนอุปมาแบบนี้ทำได้ยากมาก
สำหรับรางวัลนักเขียนศรีบูรพา เป็นรางวัลที่มอบสำหรับศิลปิน นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่ามีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง เป็นกิจกรรมหนึ่งของ "กองทุนศรีบูรพา" ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" หรือ"ศรีบูรพา" นักประชาธิปไตย นักเขียน นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก มีงานเขียนหลากหลายที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก รางวัล "ศรีบูรพา "เป็นรางวัลประจำปีที่คณะกรรมการของกองทุนศรีบูรพาพิจารณา หารือ ลงมติด้วยเสียงข้างมาก เพื่อมอบให้กับบุคคลที่เข้าข่ายตามเงื่อนไข ดังนี้ 1.เป็นนักเขียน นักแปลกวี หรือนักหนังสือพิมพ์ที่มีแบบฉบับการใช้ชีวิตที่ดีงามและมีแบบฉบับของการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับ"ศรีบูรพา" 2.มีผลงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 3.ยังมีชีวิตอยู่
"กิเลน ประลองเชิง"หรือ นายประกิต กล่าวภายหลังเข้ารับรางวัล ว่า ฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วงการนักเขียน โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ว่า คนเก่งคนดีนั้น ไม่ว่าสนามจะเปลี่ยนเป็นอะไร ของดีก็ยังต้องดี แต่อยากให้นักเขียนรุ่นใหม่หันมาอ่านงานเขียนรุ่นเก่าที่ทรงคุณค่ากันให้มากๆ งานเขียนคุณภาพเหล่านี้ไม่มีกาลเวลา ยิ่งเก่ายิ่งดี ถ้าใช้เป็นหลักสักครึ่งหนึ่ง รับรองจะไม่ผิดหวัง ที่จะก้าวหน้าสู่การเป็นนักเขียนที่ดีในอนาคต
รางวัลวรรณกรรมนานาชาติลุ่มน้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)ประจำปี 2564 ประเภทร้อยกรอง ได้แก่ ศิริวร แก้วกาญจน์ และ ประเภทร้อยแก้ว ได้แก่ สุวิชานนท์ รัตนภิมล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น