สพป.เขต2 เมืองกาญจน์ร่วมกันฝ่าพงไพรพาน้องกลับห้องเรียน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สพป.เขต2 เมืองกาญจน์ร่วมกันฝ่าพงไพรพาน้องกลับห้องเรียน

โจ่ทีล่ะ คือชื่อของนักเรียนไทยใหม่ เชื้อสายกะเหรี่ยงคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า หลังจบระดับชั้น ม.3 จาก รร.บ้านหินตั้ง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี สังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 3 ก็ไม่คิดที่จะศึกษาต่อ เพราะฐานะทางบ้านยากจน ไม่มีเงินเดินทางไปเรียนหนังสือและไม่มีพาหนะที่จะเดินทางไปเรียนต่อ เพราะ รร.บ้านหินตั้ง มีสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น จึงคิดว่าจะออกมาทำไร่มันสำปะหลังเพื่อจุนเจือครอบครัว 






แต่เมื่อโรงเรียนบ้านห้วยเสือได้เข้ามาแนะแนวในหมู่บ้าน บอกว่ามีโครงการรับ-ส่ง นักเรียนเพื่อรับลงไปศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4-6 โจ่ทีล่ะ จึงตัดสินใจขอเข้าศึกษาต่อ เพื่อหวังว่าจะมีโอกาสได้ทำงานที่ดีขึ้น เมื่อได้เข้ามาเรียน โจ่ทีล่ะ ได้ค้นพบความชอบของตัวเอง ว่าอยากเป็นช่างซ่อมรถ เหตุผลเพราะทุกครั้งที่รถของครู หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียนขึ้นมารับ-ส่ง รถเสียระหว่างทางอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากตลอดเส้นทางต้องผ่านป่า ผ่านลำห้วย หากสมรรถนะของรถไม่ดีพอก็อาจจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างทางได้เสมอ ตนเองจึงอยากช่วยครู ช่วยโรงเรียน เหมือนที่โรงเรียนได้ช่วยให้เขาได้เรียนหนังสือ

เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเด็กเพียง 1 คนเท่านั้น แต่มากกว่านั้นคือ เด็กๆกว่า 30 คน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา




นายชูศักดิ์ สีสัน
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเสือ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 3 เล่าว่า แต่เดิมเคยรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหินตั้ง จึงทราบว่าเด็กๆเมื่อจบชั้น ม.3 แล้ว ไม่มีที่เรียนต่อหากบ้านไม่มีฐานะ ต้องออกไปทำไร่ และเมื่อโรงเรียนบ้านห้วยเสือสามารถเปิดการเรียนการสอนขยายโอกาสได้จนถึงระดับชั้น ม.6 จึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มีที่เรียน จนเกิดเป็นโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คอยรับ-ส่งนักเรียน ระหว่างบ้านและโรงเรียนทุกปีการศึกษา สามารถผลิตให้เด็กเหล่านี้ได้จบ ม.6 ไปแล้วถึง 2 รุ่น แรกๆเด็กบางคนคิดถึงบ้าน เมื่อหยุดยาว ตนจึงไปส่งให้เด็กได้กลับไปกอดพ่อแม่ ก่อนรับกลับลงมาเรียนหนังสืออีกครั้ง สิ่งที่ภูมิใจคือ เห็นเด็กที่จบไปเข้าสู่โครงการครูรักษ์ถิ่น สามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจบออกไปเป็นครูและสอน ณ โรงเรียนบ้านเกิด เพียงเท่านี้ก็คุ้มแล้วสำหรับสิ่งที่ทำมาร่วม 5 ปี และต้องขอขอบคุณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว



ด้าน นายสมหมาย โมฆรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 กล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ได้รับแนวนโยบายจาก ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 ข้อหลัก นอกจากด้านความปลอดภัยของผู้เรียนแล้ว การมอบโอกาสให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯต้องดูแลช่วยเหลือและให้การสนับสนุน เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา ถึงแม้โครงการพาน้องกลับห้องเรียน จะเป็นการตามเด็กที่หลุดกลางคันกลับมาเรียน แต่การดำเนินงานของโรงเรียนบ้านห้วยเสือ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด ก็เป็นการป้องกันนักเรียนหลุดกลางคันได้ไม่แพ้กัน ขอบคุณที่ทำเพื่อเด็กๆกลุ่มนี้ ให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลสามารถมีสถานที่ศึกษาต่อ ให้พวกเขาเข้าถึงความฝันมากยิ่งขึ้น ผมมีโอกาสพูดคุยกับนักเรียนคนหนึ่ง เธอบอกว่า หากจบชั้น ม.6 แล้ว เธออยากเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อยากทำงานป่าไม้ อยากรักษาป่าให้อยู่คู่กับบ้านของเธอไปนานๆ ผมฟังสิ่งนี้แล้วรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก นี่คือการส่งเสริมให้เด็กๆสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างแท้จริง




ภาพ / นายปฐมพร อุทุมพิรัตน์ ครูโรงเรียนบ้านเสาหงษ์
ข่าว / นางสาววรางคณา ดอกกฐิน นักประชาสัมพันธ์ สพปกาญจนบุรี เขต 3 รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น