หนึ่งวันก่อนงานจะเริ่มขึ้น คณะผู้จัดงานได้รับหนังสือจากนางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน แสดงเหตุผลการไม่อนุญาตให้จัดงานที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันที่3 พ.ค.65 ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น.
สำนักงานเขตปทุมวัน ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงในการจัดกิจกรรมบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นสถานที่ใกล้แยกการจราจรคับคั่ง การจัดงานไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติการยื่นคำร้องและการพิจารณาออกใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ใช้ทางสัญจรจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดการรวมตัวของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก ประกอบกับมาตรการป้องกันและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่คณะผู้จัดเสนออาจไม่เพียงพอต่อการควบคุมการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
แม้จะถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้พื้นที่ แต่คณะผู้จัดฯยืนยันที่จะจัดงานดังเดิม โดยย้ายไปยังสถานที่ปิด และถ่ายทอดสดให้รับชมทางออนไลน์ กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปิดกั้นการใช้พื้นที่สาธารณะ แต่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 23 คนจากผู้สมัครทั้งหมด 24 คน ได้ขึ้นเวทีนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ยกเว้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งติดภารกิจในช่วงเวลาดังกล่าว การถูกปิดกั้นใช้พื้นที่สาธารณะในการเสนอความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้กลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างยิ่ง
กรุงเทพมหานคร เมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน?
ภายหลังจากที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนครบทั้ง 23 คน ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ตนมีความหวัง แต่ความหวังจะเกิดเป็นจริงได้จะต้องสร้างพื้นที่ให้พลเมืองได้นำเสนอปัญหาและความต้องการของตน
"ถ้าจะช่วยให้กรุงเทพฯมีความหวังจริงๆ เราต้องดูแลทุกคน สร้างเงื่อนไขให้ทุกคนได้ปรากฏตัว ที่ผ่านมาเราเห็นกรุงเทพฯแต่มองไม่เคยเห็นคน เราเห็นกรุงเทพฯสวยหรู แต่ว่ามองไม่เห็นชีวิตของคน หลังวันที่ 22 พฤษภาคม ผมสนใจมากเลยครับว่า สิ่งที่เราคุยกันในวันนี้จะสามารถสานต่อจนกลายเป็นความจริงได้ไหม” ศ.สุริชัย กล่าว
ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว รองผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดเวทีในวันนี้ เพราะอยากเห็นการปรับเปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองที่คำนึงต่อคนทุกภาคส่วน อยากเห็นกรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“เราจะผลักดันกรุงเทพให้เข้าใกล้ความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร” ดร.เบญจรัตน์ ชวนขบคิดต่อถึงการออกแบบให้เมืองเอื้อต่อการมีสิทธิมนุษยชน
“เมืองต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชน การทำงานของผู้บริหารเมืองต้องสามารถตรวจสอบได้ ถ้านโยบายขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เมืองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน เป็นเมืองที่วางเป้าหมายเพื่อที่ส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ทั้งภายในองค์กรและงการบริหารจัดการเมือง นโยบายต่างๆ รวมถึงการศึกษาที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” ดร.เบญจรัตน์ กล่าว
รองผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังกล่าวอีกว่า เมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เมืองที่เพียงแต่ปฏิบัติตามขอบเขตกฎหมาย แต่จะต้องเป็นเมืองที่เข้าไปปรับโครงสร้างของกฎหมายให้เป็นมิตรกับหลักการสิทธิมนุษยชน
“แต่ก็เข้าใจว่ายังมีปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเราต้องแก้ไขมากมาย อย่างไรก็ตามฉันอยากจะฝากทุกท่านเอาไว้ว่า เราจะขยับกรุงเทพฯให้เป็นตัวอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง คำถามสำคัญที่ผู้ว่าราชการจะต้องหาคำตอบ ก็คือเราจะเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิด้านอื่นๆ ได้จริงอย่างไร” ดร.เบญจรัตน์ กล่าว
การผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนในมุมมองของ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะต้องจัดทำระบบข้อมูลที่เอื้อต่อการทำงาน เพราะเป็นกลไกสำคัญที่ผู้ว่าราชการฯสามารถมองเห็นทั้งปัญหาและความต้องการของประชากรทุกกลุ่ม และใช้ดุลยพินิจที่สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นจริง
ผศ.ดร.ทวิดา เรียกร้องให้จัดทำข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้ว่าราชการแล้ว ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นท่านนำข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สาธารณะ การดูแลคนทุกกลุ่ม การดูแลคนไร้บ้าน การให้ประโยชน์กลุ่มคนจนเมือง และรวมถึงประชากรแฝง เราต้องทิ้งข้อจำกัดเดิมๆ เสียที ข้อจำกัดที่บอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ต่อจากนี้ขอให้เปิดเผยเลยว่า ข้อจำกัดนั้นคืออะไร"
ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผศ.ดร.ทวิดา มองว่า กลไกการบริหารจัดการในกรุงเทพฯไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบราชการไม่มีการติดตามและการประเมิน (Monitoring & Evaluation)
“ท้ายที่สุดของภาคประชาชนจะตอบสนองกลับออกมาให้เห็นว่าท่านทำได้แค่ไหน ตรงนี้จะเป็นกลไกที่สมบูรณ์ที่สุด” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การเป็นผู้ว่าฯกทม.ถือเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มีความเข้าใจและบริหารจัดการผ่านเลนส์ของสิทธิมนุษยชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเรื่องยากกว่า
หลังจากรับฟังการนำเสนอความคิดและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนจากผู้สมัครผู้ว่าฯ.กทม.ทั้ง 23 คน ตนไม่ได้ยินผู้สมัครฯพูดถึงคนอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่ต้องการกฎหมายทำแท้งปลอดภัย บุคคลผู้ลี้ภัยในเมือง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แรงงานนอกระบบ รวมถึงผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางการเมือง
“ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นฐานเสียงของท่าน หรือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว หรือพวกเขาถูกลืมจริงๆ ยกตัวอย่างคนที่ไปชุมนุมที่ดินแดง พวกเขาโดนกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงก้าวร้าว หรือแม้กระทั่งคนกัมพูชาที่มาต่อแถวขอรับอาหารแล้วก็โดนจับไปด้วย แล้วก็คนที่ได้รับผลกระทบกระทั่งครอบครัวของเด็กชายวาฤทธิ อายุ 15 ที่โดนยิงเสียชีวิต ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในทางคดี”
ท้ายที่สุด ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “เราจะรอดูนะคะ ผู้สมัครทุกคนนะคะ และคนที่จะเป็นผู้ว่าฯ ว่าคุณจะทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือเปล่า”
สิทธิมนุษยชน ความท้าทายของพ่อเมืองกรุงเทพมหานคร
สำหรับการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บนเวทีที่ถูกปฏิเสธให้ใช้พื้นที่สาธารณะ จึงเป็นทั้งเรื่องตลกร้ายและความท้าทายอย่างยิ่ง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสิทธิการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ว่าการจัดเตรียมห้องสุขา การดูแลกล้องวงจรปิดที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคนถือเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่มีอีก 2 เรื่องเป็นอย่างน้อยที่ควรจะต้องทำ คือการเปิดพื้นที่ของหน่วยงานราชการในสังกัดกรุงเทพฯให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลาง โดยทำงานร่วมกันกับนักข่าวพลเมืองและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำให้สิทธิของประชาชนได้รับการปกป้อง
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ได้แสดงความคิดเห็นถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ว่าที่ผ่านมาเป็นกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น ทั้งที่ พ.ร.บ.นี้ควรใช้อำนวยความสะดวกเรียบร้อยให้แก่ผู้คนในเมือง
“พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ควรใช้จัดการกับสายไฟระโยงระยางต่างหาก แต่กลับไม่เคยทำ คุณใช้กฎหมายจัดการกับกระดาษโพสต์อิท แต่ปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ รั้วลวดหนามหีบเพลง พอมีพลเมืองดีไปเก็บลวดหนามกลับถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์สินของทางราชการ”
นายวิโรจน์ กล่าวถึงการหยุดเดินรถ BTS ในวันที่มีการชุมนุมของประชาชน ว่าเป็นการทำให้กรุงเทพมหานครเสียค่าปรับและลิดรอนสิทธิในการเดินทางของประชาชน
“ต้องตั้งคำถามว่าคุณไปรอนสิทธิการเดินทางของคนอื่นทำไม และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าถ้าคุณหยุดการเดินรถ BTS อันตรายจะเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม คุณหมายจะให้ใครขึ้นไปบนรางเหรอ คุณไม่สาแก่ใจกับเหตุการณ์วัดปทุมฯ เหรอ ผมจะไม่ยอมให้มีชายลายพรางหรือชุดอะไรก็ต่างขึ้นไปบนบีทีเอสส่องยิงประชาชนอีก” นายวิโรจน์ กล่าว
นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 (อิสระ) กล่าวถึงประเด็นการใช้พื้นที่สาธารณะว่า ตนเห็นด้วยกับการเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมอย่างเต็มที่ เพราะตนก็เคยใช้พื้นที่สาธารณะในการเรียกร้องสิทธิเช่นกัน
“หลายคนรู้จักผมจากบทบาทที่เคยชุมนุมเรียกร้องสิทธิมาก่อน ผมคิดว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิตราบเท่าที่กฎหมายให้ทำได้นะครับ แต่ถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ แต่ยังจะทำ ผมก็อยากให้ดูตัวอย่างที่ไม่ดีอย่างผม ซึ่งต้องรับผลของการกระทำ ผมสู้ไปคดีมา 7-8 ปีกว่าจะหลุดพ้นมาก็ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ถ้าผมมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ ถ้าการชุมนุมไม่ผิดกฎหมายยังไงก็ต้องช่วยประชาชน” นายสกลธี กล่าว
สำหรับประเด็นที่จะเอื้อให้เมืองเป็นมิตรกับสิทธิในการชุมนุม นายสกลธี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครสามารถสนับสนุนในเรื่องของการจัดการขยะ ไฟฟ้า ห้องน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะควรมีลักษณะยืดหยุ่น
“การใช้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯไม่ควรจำเพาะเจาะจงในการใช้ประโยชน์ลักษณะใดอย่างตายตัว เช่น สวนสาธารณะไม่ใช่สถานที่สำหรับการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว สวนสาธารณะต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย อาจจะใช้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ หรือจัดกิจกรรมดนตรี สามารถทำได้ในโซนที่ไม่เบียดเบียนกิจกรรมของคนที่ใช้สวนสาธารณะนั้น การใช้พื้นที่สาธารณะเป็นประเด็นที่ผู้ว่าฯต้องพยายามดึงศักยภาพของสิ่งที่ตัวเองมีออกมาให้ได้มากที่สุดครับ” นายสกลธีกล่าว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการใช้สิทธิทางการเมืองว่า ตนสนับสนุนการใช้สิทธิในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ยืนยันว่าหากตนเป็นผู้ว่าฯจะไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน พร้อมดูแลทุกคนอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต้องเป็นสิทธิพื้นฐานของคน กทม. กล้อง CCTV ควรเชื่อมต่อด้วยระบบ WiFi
จากการลงพื้นที่กว่า 50 เขต ศ.ดร.สุชัชวีร์ พบว่า คนกรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นตนอยากจะผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวัสดิการ
“กทม. ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย เป็นต้นแบบของอาเซียน ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการบริการที่ฟรี ทั่วถึงและเท่าเทียม ให้ประชาชนลุกยืนขึ้นอย่างแน่นและมั่นก่อนจะวิ่งไปทิศทางที่ต้องการ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
สุชัชวีร์กล่าวต่อว่า นอกจากการดูแลเรื่องสุขภาพทางกาย โครงการมีหมอ 3 วันต่อสัปดาห์ที่ดูแลโรคเฉพาะผู้สูงอายุแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องสุขภาพจิต และสำหรับเรื่องการหางานของกลุ่มเด็กที่จบปริญญาตรี ตนมองว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่กทม. จะต้องตีโจทย์ให้ได้ ต่อไปนี้คนที่ผ่านศูนย์ฝึกอาชีพหรือกำลังหางานจะต้องสามารถทำงานได้จริง ส่วนตัวตั้งใจจะทำศูนย์หาอาชีพของกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลาง เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ทั่วโลกพัฒนาแล้วมี
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 (อิสระ) กล่าวว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนตรงกับวิสัยทัศน์ของตนเองที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดก็ตาม ตนจะเน้นที่โครงการระดับเส้นเลือดฝอยเพื่อให้เข้าถึงคนตัวเล็กตัวน้อย และกล่าวถึงการจัดเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุม โดยระบุว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 9 หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมได้ ผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตตำรวจตามหมวด 2 เช่น พื้นที่ลานคนเมือง สวนลุมพินีบางส่วน สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น หรือสวนสาธารณะอื่นๆ ได้ กระทั่งสามารถจัดการพื้นที่การชุมนุมให้มีตลาดหรือการแลกเปลี่ยนพูดคุยปราศรัย
"เรื่องเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราควรทำให้เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของการพูดคุยเวลาที่มีความเห็นแตกต่างกัน หน้าที่เราคือดูแลประชาชน ไม่ว่าความคิดต่างจากเราหรือรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเต็มที่ ทั้งการเก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องวงจรปิด เพื่อดูแลประชาชน ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้แม้จะมีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไรก็ตาม และมองว่าการเตรียมพื้นที่ของ กทม. ให้เป็นพื้นที่ชุมนุมได้ เช่น บริเวณลานคนเมือง และพื้นที่สาธารณะในทุกเขต ซึ่งจะต้องทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่มาพูดคุยกัน แล้วทำให้ข้างๆ เป็นตลาดนัด สร้างเศรษฐกิจในเมืองด้วย” นายชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน ที่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมาก มีทั้งคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช คนขายบริการ และ 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 6,000-7,000 คน จึงมองว่าไร้บ้านแต่ต้องไม่ไร้สิทธิ ไร้โอกาส ดังนั้น กทม. ก็จะต้องลงทะเบียนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้สวัสดิการพื้นฐาน และจะต้องเปิดที่อยู่อาศัยทำเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับคนไร้บ้าน โดยใช้พื้นที่ตามใต้ทางด่วน และมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปดูแลด้านจิตเวช เพื่อดูแลคนไร้บ้านตามท้องถนน
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง แรงงานนอกระบบ ผู้เรียกร้องให้มีการทำแท้งปลอดภัยและถูกกฎหมาย ว่าจะต้องรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง
ส่วนปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ส่วนนี้นอกจากการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้ว กทม. ต้องดูแลควบคู่ด้วย ต้องช่วยบริการ จัดหาวิธี หากมีกรณีผู้ป่วยจิตเวช ต้องเร่งรักษาผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการดูแลเรื่องที่พักของนักศึกษา และปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด ย้ำว่าต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และมองว่าสถานที่ราชการหรือโรงแรมสามารถเข้าไปขอความร่วมมือทำเป็นโรงพยาบาลสนามได้ด้วย ถ้าบริหารได้ดี จำนวนคนเสียชีวิตจะไม่เยอะขนาดนี้ สิ่งต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆ นั้น ประชาชนไม่เชื่อมั่น
“เขาจะต้องมีสิทธิในความเป็นคนในความเป็นมนุษย์ครับ อัตลักษณ์ที่แตกต่างต้องได้รับการดูแล หลายสิ่งหลายอย่างที่กรุงเทพฯทำมา เช่น สกายวอล์ก เป็นสิ่งที่ดีแต่ยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม แต่ว่าคนพิการไม่ได้มองอย่างนั้นครับ เขามองว่าสกายวอล์กเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานของความความอดสูหรือความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมเขาขึ้นไปใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯควรคำนึงถึงคนพิการให้สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราต้องทำงานบนแนวคิด Universal Design จึงจะสามารถบอกได้ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังครับ ทุกวันนี้เราทิ้งไว้ข้างหลังหมดนะครับ” น.ต.ศิธา กล่าว
กรุงเทพมหานคร เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดังที่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าว -เราจะต้องสร้างเงื่อนไขให้ทุกคนได้ปรากฏตัว ที่ผ่านมาเราเห็นกรุงเทพฯแต่มองไม่เห็นคน เราเห็นกรุงเทพฯสวยหรู แต่ว่ามองไม่เห็นชีวิตของคน
เพราะกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่ประชากรแฝง แรงงานนอกระบบ คนเร่ร่อน ไปจนถึงคนจนเมือง
นายชัชชาติ กล่าวว่า คนที่มาจากต่างจังหวัดเป็นกำลังสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม.ต้องร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ และ พอช. ประสานงานอย่างเข้มแข็ง
“ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาคนจนเมืองไม่ได้ เพราะขาดการเอาใจใส่ปัญหาคนจน สนใจแต่เมกะโปรเจคต์ เราต้องดูว่านี่คือคนที่สำคัญของเมือง นี่คือเส้นเลือดฝอยของเมือง เราต้องพัฒนาเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็งมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
การกระจายอำนาจและงบประมาณ ดูจะเป็นแนวคิดสวยหรูที่ผู้สมัครผู้ว่าฯหลายคนเสนอตรงกัน เช่นเดียวกับนายสกลธี ภารกิจแรกๆ ที่จะทำหากได้รับการเลือกเป็นผู้ว่าฯ คือการกระจายงบประมาณให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาพื้นที่รอบนอกกทม.เท่าที่ควร ผู้ว่าฯต้องกระจายความเจริญไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงตรงกลาง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนนอกเมืองได้รับความเจริญที่เท่าเทียมกับในเมือง
ขณะที่อัตลักษณ์ของกรุงเทพฯอย่างความเจริญของเมืองในย่านชุมชนดั้งเดิม (Gentrification) ก็เป็นจุดแข็งของกรุงเทพฯ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนจะไม่ปล่อยปละละเลยผังเมืองให้เละเทะอย่างที่ผ่านมา
“เราต้องคิดว่า กทม. เป็นเมืองที่ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ดูแลเขาให้เท่าเทียมกันจริงๆ ผมตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน 4 ปีนี้ ต้องโฟกัส โฟกัส และโฟกัสเท่านั้น จะเป็นผู้ว่าฯ ที่ไม่อยากส่งมอบปัญหาและคำถามแบบเดิมให้ผู้ว่าฯ คนต่อไป” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ความแออัดและความไร้ระเบียบคือปัญหาของกรุงเทพมหานคร นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯผลักภาระทั้งหมดให้ประชาชน แต่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดในเมืองใหญ่แห่งนี้มาจากการที่เมืองละเลยการวางกติกาที่เป็นธรรม
“ถ้ากติกาเมืองไม่มีความเป็นธรรม ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจะต่อสู้กันเอง สุดท้ายพอปัญหาเกิดขึ้น ก็โยนบาปให้เขาอีก ใช้การจัดระเบียบไล่รื้อ สุดท้าย กรุงเทพมหานครต้องเป็นเมืองที่ไม่เห็นแก่ตัว” นายวิโรจน์ กล่าว
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในมุมมองของ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 7 (อิสระ) คือการประกาศเจตจำนง “ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯเปลี่ยนแน่” หากหยุดโกงได้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ กทม.ได้
นางสาวรสนา กล่าวว่า ตนมุ่งทำนโยบายให้ชัดเจน เช่นนโยบาย 50 ล้าน 50 เขต ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบโครงการแก้ปัญหาในเขตตัวเอง จะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้าไปสำรวจเหตุแห่งปัญหา ดึงให้คนในพื้นที่ที่ใกล้ชิดปัญหาเข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยให้แก้ปัญหาตรงจุดได้
แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดก็คือความเป็นอิสระจากอำนาจต่างๆ ซึ่งนายโฆษิต สุวินิจิต ผู้สมัครอิสระหมายเลข 24 กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเอง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และอย่าให้พรรคการเมืองเข้ามามีอิทธิผลต่อการตัดสินใจ
“ผมไม่เกี่ยวกับพรรคไหน นายกฯสั่งผมไม่ได้ ไม่มีใครก็สั่งผมได้ ผมเป็นอิสระ ผมมาจากประชาชน” นายโฆษิต กล่าว
หลังวันที่ 22 พฤษภาคม ภาระหน้าที่ของผู้ว่าฯ คนใหม่จะเริ่มต้นขึ้น ประชาชนจะเฝ้ารอดูบทบาทการทำงานของพ่อเมืองคนใหม่ เหมือนดังที่ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวไว้ – เราจะรอดูว่าผู้ว่าฯจะทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่?
"กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เวทีเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนร่วมจัดโดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตรีคอเดอร์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิอิสรชน กลุ่มเส้นด้าย และ Mob Data Thailand สำนักข่าว The Reporters ข่าว 3 มิติ และ AIS PLAY
ภาพประกอบเพิ่มเติมดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.amnesty.or.th/latest/news/1002/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น