ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 65 เวลา 16.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ ในฐานะหน่วยประสานงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนการประสานงานกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง และได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรเอกชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยกันผนึกกำลังและประสานความร่วมมือให้ประเทศไทยสามารถยกระดับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ จึงได้จัดโครงการการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรเอกชนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ระหว่างวันที่ 24 – 26 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมวินทรี ซีตี้ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 122 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่ภาคเหนือ ทีม One Home พม. จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (สคม.) บ้านสองแคว จังหวัดพิษณุโลก และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (สคม.) จังหวัดเชียงราย สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 8 และ 9 กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเชื่อว่า พลังความร่วมมือของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เช่นเดียวกับ กระทรวง พม. ที่มุ่งมั่นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกันดำเนินงานให้เห็นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม และการสร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามความมุ่งหมาย ซึ่งกระทรวง พม. รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถดำเนินงานได้สำเร็จ หากขาดพลังจากทุกภาคีเครือข่ายที่จะช่วยเติมเสริมพลังซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจทิศทางการทำงานร่วมกัน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งในเชิงป้องกันปัญหา การคุ้มครองช่วยเหลือ การแจ้งเบาะแส ตลอดจนการพัฒนากลไกการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในอนาคตที่อาจมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างแท้จริง และประเทศไทยจะได้รับการจัดระดับผลการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ดีขึ้นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น