ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 65 เวลา 09.30 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “พม.จิตอาสา พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง” เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2565 จากนั้น นำคณะผู้บริหารและข้าราชการจากสำนักงานปลัดกระทรวง พม. และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) รวมทั้ง อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคมในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ณ ที่ทำการชุมชนร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ
นางพัชรี กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันข้าราชการพลเรือน ซึ่งข้าราชการต้องตระหนักเสมอว่า ตนเป็นผู้ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี มีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังนั้น ข้าราชการจึงต้องมีความรู้ในหน้าที่รับผิดชอบของตน พร้อมทั้งยึดมั่นในจริยธรรม มีความเสียสละ และมีจิตสาธารณะ ย่อมจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้จัดกิจกรรม “พม.จิตอาสา พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง” เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2565 เพื่อให้ข้าราชการกระทรวง พม. ได้ระลึกถึงบทบาทหน้าที่สำคัญในการให้บริการและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมและสถานการณ์โควิด - 19 ตลอดจนการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย จิตอาสา และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ซึ่งวันนี้ กระทรวง พม. โดยสำนักงานปลัดกระทรวง พม. และกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมกับ อพม. ลงพื้นที่ชุมชน จำนวน 7 ชุมชนในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ได้แก่ ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ชุมชนวัดปรุณาวาส ชุมชนสุพจน์ ชุมชนร่วมเกื้อ ชุมชนสินพัฒนาธานี ชุมชนซอยยายหนู และชุมชนปลายหมู่ 13 เพื่อเยี่ยมครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคม ชุมชนละ 5 ครอบครัว รวมทั้งสิ้น 35 ครอบครัว พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ขอยืนยันว่า กลุ่มเปราะบางที่เราดูแลทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และพ่อ-แม่ เลี้ยงเดี่ยว เรามีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเราดูแลแบบครอบครัว มีการจัดทำสมุดพกครอบครัวเพื่อดูแล 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการ มิติด้านการเข้าถึงสิทธิเบื้องต้นที่ควรได้รับจากภาครัฐ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านการศึกษาของเด็กในครอบครัว และมิติด้านอาชีพและรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเราจะดูว่าอาชีพของคนในครอบครัวมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ หากไม่พอ เราจะแนะนำหรือสอนทักษะด้านอาชีพที่ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น