กระทรวงสาธารณสุข เผย การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวมีโอกาสเกิดสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริดได้ ขณะนี้พบผู้ป่วย 1 ราย ถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบใกล้เคียงสายพันธุ์ลูกผสม XJ แต่ยังต้องรอผลสรุปจาก GISAID อีกครั้งกระทรวงสาธารณสุข เผย การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวมีโอกาสเกิดสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริดได้ ขณะนี้พบผู้ป่วย 1 ราย ถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบใกล้เคียงสายพันธุ์ลูกผสม XJ แต่ยังต้องรอผลสรุปจาก GISAID อีกครั้ง ย้ำสถานการณ์โอมิครอนในขณะนี้เชื้อแพร่ง่าย มีโอกาสติดเชื้อสูง ต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเรื่อง การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค. - 1 เม.ย. 2565 จำนวน 1,933 ราย พบว่าเป็นโอมิครอน 99.84% โดยเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากขึ้นถึง 92.2% และในอนาคตอันใกล้ BA.1 อาจจะหายไป ส่วนการเกิดการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส ซึ่งการติดเชื้อจำนวนมากจะมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ โดยการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนเดียว (Mixed Infection) จะมีโอกาสเกิดการผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่หรือ “ไฮบริด” ซึ่งมีระบบการเรียกโดยใช้ “X” นำหน้า ขณะนี้มีประมาณ 17 ตัว ตั้งแต่ XA ถึง XS แต่ในระบบเฝ้าระวังของโลกคือ GISAID มีการยอมรับว่าเป็นลูกผสมจริง 3 ตัว คือ XA, XB และ XC
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับไวรัสที่พบตั้งแต่ XD ลงไป ยังอยู่ในขั้นที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นก่อนจะสรุปได้ว่าเป็นตัวใหม่จริง ทั้งนี้ พบว่าสายพันธุ์ลูกผสมหลายตัวมาจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 + BA.2 เช่น XE XG XH XJ เป็นต้น โดยพบในประเทศที่แตกต่างกัน แต่ที่ต้องกำหนดชื่อแตกต่างกันเนื่องจากมีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกัน และตำแหน่งที่ผสมไม่ตรงกัน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละ 500-600 ราย พบว่า มี 1 ราย ที่ใกล้เคียงกับ “XJ” ที่พบครั้งแรกในฟินแลนด์ ซึ่งเป็น BA.1 + BA.2 เช่นกัน โดยเป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่ง ซึ่งมีโอกาสพบเจอคนจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนเดียวได้ง่าย และมีโอกาสผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ โดยส่งตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. ตรวจพบตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีประวัติฉีดวัคซีน 2 เข็ม ซึ่งผู้ป่วยรายนี้รักษาหายเป็นปกติแล้ว และกรมฯ ได้ส่งข้อมูลไปยัง GISAID ซึ่งต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลอีกมากก่อนจะสรุปว่าเป็นลูกผสมจริงหรือไม่ และอาจจะใช้ชื่อ XJ หรือไม่ก็ได้
“สำหรับสายพันธุ์ XJ ยังไม่มีข้อมูลเรื่องการแพร่เร็วหรือรุนแรง เพราะเบื้องต้น จะต้องตรวจหาตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมก่อน และมาพิจารณาว่าตำแหน่งที่เปลี่ยนนั้นมีโอกาสหลบภูมิ ทำให้รุนแรง หรือแพร่เร็วมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น ประชาชนยังไม่ต้องกังวลเรื่องสายพันธุ์ลูกผสม ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีการแพร่เชื้อเร็ว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น จึงขอให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน” นพ.ศุภกิจกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น