เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 10.45 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park (ผ่านระบบออนไลน์) ไปยังนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เป็นโครงการภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีความมุ่งหวังร่วมกันให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตโดยเร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-Curve ที่มีนวัตกรรมหรือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต อันจะก่อให้เกิดการขยายตัวในการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทอื่น ๆ ในพื้นที่ EEC ต่อไป ทั้งนี้ หากโครงการนี้สำเร็จลุล่วง จะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งการเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมของประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม S-Curve ตลอดจนมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ EEC ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้โครงการต่างๆ ของ EEC มีความก้าวหน้าแล้วเสร็จตามแผนเป็นที่น่าพอใจ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนคนไทยในทุกด้าน เพื่อทำให้ EEC และประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่กำลังจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงในทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกด้านอย่างครอบคลุม ทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการทำงาน การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy คำนึงถึงเรื่องพลังงานสะอาดและการอยู่ร่วมกับชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมควบคู่กันกับความเป็นอยู่ของประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยจะต้องคำนึงถึงความร่วมมือของคนในพื้นที่ ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีเจตนาที่ดีในการพัฒนาประเทศเพื่อให้พ้นจากกับดักความยากจน แม้ในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ แต่ความร่วมมือกันของทุกคนในประเทศและกำลังใจที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งจากภายใน มีรากฐานที่มั่นคง และสามารถต่อสู้กับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไปได้ในอนาคต
นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมกันผลักดันโครงการฯ ให้ประสบผลสำเร็จ “สร้างประโยชน์ให้ประเทศและประชาชน” ซึ่งนายกฯ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จากนั้น นายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park อย่างเป็นทางการ พร้อมถ่ายภาพร่วมกันในรูปแบบออนไลน์ และได้ส่งกำลังใจถึงผู้ร่วมงานและผู้เกี่ยวข้อง ณ นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยองด้วย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ได้รับการพัฒนาตามนโยบายรัฐบาลมุ่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 1,400 ไร่ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และกระจายรายได้สู่ชุมชน มูลค่าโครงการประมาณ 2,370.72 ล้านบาท รองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมขั้นสูงที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) เป็นต้น กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น