ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) สู่การเป็น “เมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมือง” (City of Local Cloth Fashion) ชื่นชมเป็นต้นแบบการสืบสานถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่ พร้อมเชิญชวนร่วมรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้เกิดความยั่งยืนผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 65 เวลา 10.30 น. ที่วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) หมู่ที่ 5 ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) สู่การเป็น “เมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมือง” (City of Local Cloth Fashion) และร่วมปลูกต้นพะยูง ต้นไม้ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายเวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู คุณอธิมุติ กาญจนมณี นายอนุชา พัสถาน ปลัดจังหวัดหนองบัวลำภู นางฐพัชร์รดา ธนินท์จิรานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองบัวลำภู นายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู คุณสุมามาลย์ เต๊จ๊ะ ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) มีที่มาจากความตั้งอกตั้งใจและความใฝ่ฝันที่ปรารถนาในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยของจังหวัดหนองบัวลำภูต่อจากคุณยายและคุณแม่ โดย "น้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ" ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยฯ ซึ่งเป็นผู้ทีมีความรัก ความหลงใหลในภูมิปัญญาผ้าไทย ซึ่งแม้ว่าตนจะมีงานประจำที่ต้องทำ แต่ก็มีความขวนขวาย เหมือนสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “early bird” ด้วยการตื่นแต่เช้าไปนั่งรถเมล์ และเอาผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองประดิษฐ์ประดอยทำขึ้นมาไปนั่งขาย ตามสถานที่ต่าง ๆ จนกระทั่งด้วยความเมตตาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร ที่ท่านมีวิสัยทัศน์ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพยายามรื้อฟื้นให้ผ้าไทยกลับมาเป็นเครื่องมือของพวกเราคนไทยที่อยู่ในชนบท ให้ได้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มเติม นับเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2513 ที่ทรงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปช่วยเหลือพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และทรงทอดพระเนตรเห็นคนในพื้นที่สวมใส่ผ้าซิ่นสวย ๆ จึงทรงมีพระราชดำรัสตรัสถามถึงที่มาของผ้าซิ่นแต่ละผืนที่มีความวิจิตรงดงาม กระทั่งได้ทรงทราบว่าเป็นผ้าที่ประชาชนทอด้วยตนเอง จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ในการส่งเสริมให้รวมตัวกันทอผ้า โดยทรงรับซื้อในราคาที่มีราคาสูงมาก จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เป็นรูปธรรมดังพระดำรัส “ขาดทุนคือกำไร” เป็นเรื่องจริงที่พระองค์ท่านพระราชทานให้พวกเราชาวไทย เพื่อให้พวกเราจับปลาเป็น คือ สามารถจูงใจให้คนไทยหันมาให้ความสนใจในการทอผ้า ซึ่งน้องอ๋อย ได้เข้ารับการอบรมผ่านศูนย์ฝึกอาชีพวัดธรรมมงคล ทำให้น้องอ๋อยจึงถือเป็นหนึ่งในผลิตผลของพระองค์ท่าน เริ่มจากการผ่านกระบวนวิธีคิดที่เห็นคุณยายและคุณแม่ได้ทอผ้าตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กประกอบกับเป็นจังหวะดีที่ได้ไปฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึกอาชีพวัดธรรมมงคล ก่อนจะตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดที่จังหวัดหนองบัวลำภู รื้อฟื้นหัตถศิลป์ หัตถกรรมผ้าทอของจังหวัดหนองบัวลำภูให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทำให้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในการขับเคลื่อนการส่งเสริมผ้าไทยเกิดขึ้นในหมู่คนที่ช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอด อัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ดังเช่นที่ วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) เพื่อให้ผ้าไทยเป็นที่ถูกอกถูกใจพี่น้องประชาชนคนไทยทุกรุ่นทุกวัย ตามโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการเป็นสถานที่ เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบที่ทางราชการมาสนับสนุนให้เป็นเสาหลักของจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอื่น ๆ ได้ดูเป็นแบบอย่างและใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการจัดสรรงบประมาณโดยกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อทำวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) ได้เผยแพร่แนวคิดในการสืบสาน รักษา และต่อยอด อัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทยไปสู่คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ คนรุ่นใหม่ ให้ได้ทอผ้าเป็น ออกแบบเป็น และนำเอาผ้าไปประดิดประดอยผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทุกประเภท รวมทั้งต่อยอดไปสู่การตลาดสมัยใหม่ ด้วยการคิดค้นวิธีการในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่สวยงาม ต้องตา ต้องใจ ผ่านการเดินแบบที่เป็นสากล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสืบสานโดยรุ่นลูกหลานทั้งสิ้น
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทย สนองแนวพระดำริของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการให้กลุ่มทอผ้าได้สามารถพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยพัฒนายกระดับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า และทอผ้าทำมือ ส่งผลให้เกิดความมั่นคงเรื่องเครื่องนุ่งห่ม และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์สู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้มีการสืบสานและต่อยอดไปสู่เด็กรุ่นใหม่ รุ่นลูก รุ่นหลาน ด้วยการสอนการฝึกทอผ้าให้แก่เด็กเยาวชน รวมทั้งสอนวิธีการออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยในหลากหลายลวดลาย เทคนิค เพื่อให้มีแรงบันดาลใจ มีความคิดสมัยใหม่ แปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้สามารถเป็นที่ต้องการของตลาดคนรุ่นใหม่ได้เลือกซื้อเลือกหา พร้อมทั้งฝึกอบรมช่องทางในการตลาดรูปแบบใหม่ เช่น แพลทฟอร์มการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอื่น ๆ อาทิ การเดินแบบแฟชั่นโชว์ ที่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไทยอันดึงดูดความสนใจให้ประชาชนทุกกลุ่มได้หันมาให้ความสำคัญและสนใจเลือกซื้อผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมในการสวมใส่ผ้าไทยให้มากวันที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 จึงขอเชิญชวนให้พวกเราชาวจังหวัดหนองบัวลำภู และพี่น้องชาวไทยทุกท่าน นอกเหนือจากการสวมใส่ผ้าไทยให้มากที่สุดแล้ว “ในทุกวันศุกร์” ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ขอให้ได้เลือกสวมใส่ผ้าไทยที่มีสีฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบให้คนในสังคมได้นิยมชมชื่นผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น อันเป็นการช่วยกันสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อดูแลให้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำรายได้ไปใช้ในการดูแลตนเองและจุนเจือครอบครัวอันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น