ไทยรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC นำ “โปรบิมสเทค” ขับเคลื่อนสู่ภูมิภาคที่มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาสเศรษฐกิจใหม่ ๆ ด้วยสัญลักษณ์รวงข้าวสีทองและเกลียวคลื่นสีฟ้า - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

ไทยรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC นำ “โปรบิมสเทค” ขับเคลื่อนสู่ภูมิภาคที่มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาสเศรษฐกิจใหม่ ๆ ด้วยสัญลักษณ์รวงข้าวสีทองและเกลียวคลื่นสีฟ้า


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 12.50 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งประธานบิมสเทค ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีกับศรีลังกาที่ทำหน้าที่ประธานบิมสเทคเป็นอย่างดีท่ามกลางความท้าทาย ไทยยินดีที่ในวันนี้ได้รับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากประเทศศรีลังกา เป็นเวลา 2 ปี โดยในการเป็นประธานนี้ ไทยมุ่งมั่นจะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกาและจะขับเคลื่อนบิมสเทคไปสู่
1. ความมั่งคั่ง ไทยมุ่งส่งเสริมให้บิมสเทคมีความมั่งคั่งผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 สร้างความเชื่อมโยงกันให้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี

2. ความยั่งยืน ไทยมุ่งส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการต่อสู้กับความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนโยบายการฟื้นฟู และการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และสมดุล

3. เปิดกว้าง ไทยให้ความสำคัญกับ “คน” (human capital) และสนับสนุนให้ประชาชน ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และร่วมสร้างความตระหนักรู้ถึงโอกาสและการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในทุกภาคส่วน

โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 2 ปีหลังจากนี้ บิมสเทคจะมีพัฒนาการและเข้มแข็งพร้อมรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ ซึ่งความมุ่งมั่นของไทยสะท้อนอยู่ในตราสัญลักษณ์และวีดิทัศน์การเป็นประธาน โดยตราสัญลักษณ์รวงข้าวสีทองและเกลียวคลื่นสีฟ้าสะท้อนถึงการเป็นภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของโลก มีความเชื่อมโยงผ่านเส้นทางเดินเรือในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและมีพลังในการฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน และยังแสดงถึงความยืดหยุ่นของประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อร่วมขับเคลื่อนบิมสเทคให้ก้าวไปข้างหน้าอย่าง “มั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส”

โดยโอกาสนี้ ผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกได้ร่วมกันรับชมวีดิทัศน์เปิดตัวการเป็นประธานบิมสเทคของไทย ก่อนที่ประธานาธิบดีศรีลังกาจะกล่าวปิดประชุม เป็นอันเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพบิมสเทคของศรีลังกา และไทยได้เริ่มต้นการเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 นี้ ได้มีการร่วมกันลงนาม และรับรองเอกสารสำคัญ ดังนี้
1. กฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter)
2. อนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (BIMSTEC Convention on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters)
3. บันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีบิมสเทค(Memorandum of Association on the Establishment of BIMSTEC Technology Transfer Facility; TTF)
4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถาบันการทูตระหว่างกระทรวงการต่างประเทศบิมสเทค (Memorandum of Understanding (MoU) on Mutual Cooperation between Diplomatic Academies/Training Institutions of BIMSTEC Member States)
และรับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) และปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 (5th Summit Declaration)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น