“นายกรัฐมนตรี” เป็นประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ให้จังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วธ.เผยการจัดงานครั้งที่ 2 ที่จังหวัดนครราชสีมา สามารถเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยใช้มิติทางศิลปะร่วมสมัยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะนี้มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 3.4 แสนคน
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ในการจัดงาน “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” ให้แก่จังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานต่อไป ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร เข้าร่วม ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ในขณะที่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางไปร่วมพิธีมอบธงสัญลักษณ์การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ฯ ให้แก่นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณ Terminal 21 Korat จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหาร ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ศิลปิน เข้าร่วม
นายอิทธิพล กล่าวว่า จากนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งผลักดันการใช้ ”Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทย และได้ประกาศให้จังหวัดเชียงราย นครราชสีมา และกระบี่ เป็นเมืองศิลปะ และได้พิจารณาคัดเลือกให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดแรกในการจัดงาน “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 1 Thailand Biennale, Krabi 2018” ต่อมาจังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 2 Thailand Biennale, Korat 2021 ซึ่งครั้งนี้ วธ.โดย สศร. ได้บูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดนครราชสีมา ศิลปินนานาชาติ 25 ประเทศ หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรม เครือข่ายศิลปินและภาคประชาชน จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Butterflies Frolicking on the mud” หรือ “เซิ้ง..สิน ถิ่นย่าโม” ระหว่างเดือนธันวาคม 2564 - มีนาคม 2565
รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้ดำเนินกิจกรรมใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยใช้มิติทางศิลปะร่วมสมัยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของเทศกาลศิลปะนานาชาติ โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้มีเวทีการแสดงออกความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานและแนวคิดจากศิลปินระดับนานาชาติและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลในอนาคต ขณะนี้ได้รับรายงานจาก สศร. (ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565) มีผู้เข้าชม นักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติเข้าชมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ มากกว่า 3.4 แสนคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่กว่า 272 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อการจัดงานดังกล่าวเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการสรุปภาพรวมผลการจัดงานอีกครั้ง และหลังจากมีการมอบธงสัญลักษณ์ให้จังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าภาพแล้ว วธ.จะได้มีการวางแผนการดำเนินงานในขั้นตอนการคัดเลือกภัณฑารักษ์ การคัดเลือกผลงาน และรูปแบบการแสดงงานของจังหวัดเชียงรายต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น