ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 65 ณ ห้องตาลโตนด ภัทธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดพิษณุโลก นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ (พื้นที่ภาคเหนือ) ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่าง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กับ กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจุดตัด และจัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึกบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟนายสรพงศ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการในการเดินทาง และปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเป็นคมนาคมขนส่งหลักในการเดินทาง ทำให้เกิดปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะ ตลอดจนปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยจากการรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุ 3 หน่วยประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน พบว่า ในปี 2563 ถึงแม้จะอยู่ในช่วง COVID-19 ประเทศไทย ยังมีอัตราผู้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 17,831 คนต่อปี อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บและผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้บาดเจ็บและผู้พิการดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง โดยได้เร่งปรับปรุงโครงข่าย ทางรถไฟในปัจจุบัน พัฒนารถไฟทางคู่ ก่อสร้างรถไฟสายใหม่ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รัฐบาลจึงมีนโยบายมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง มีการเร่งปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบัน พัฒนารถไฟทางคู่ ก่อสร้างรถไฟสายใหม่ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับจังหวัดพิษณุโลก มีทางรถไฟผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอพรหมพิราม มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 52 แห่ง เป็นจุดตัดต่างระดับ 10 แห่ง และจุดตัดเสมอระดับ 42 แห่ง ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 39 แห่ง และทางลักผ่าน 3 แห่ง โดยอนาคตเมื่อมีโครงการรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ซึ่งปัจจุบันออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติเห็นควรนำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนี้จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นจุดตัดต่างระดับทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถไฟมากยิ่งขึ้น
การจัดประชุมกลุ่มย่อยในวันนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งรับฟังความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐาน หลักเกณฑ์การพิจารฯาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ พ.ศ. .... และร่างประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่อง การกระทำที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อน ขร. จะดำเนินการเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟต่อไป
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ https://drtcrossing.com/ หรือแฟนเพจ https://www.facebook.com/DRT.Crossing โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น