นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัยและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและนโยบายวธ.ในการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์และการจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ดังนั้น เนื่องในวันช้างไทย 13 มีนาคมที่ผ่านมา วธ. ได้ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาช้าง สัตว์ประจำชาติไทย และเชิญชวนให้เด็กและเยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยวไปศึกษาและเที่ยวชมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จังหวัดลำปาง โดยวธ.ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง เพื่อช่วยโปรโมทส่งเสริมการท่องเที่ยววันอนุรักษ์ช้างไทย โดยทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และภาคส่วนต่าง ๆ ไปร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร เลี้ยงขันโตกช้างในวันอนุรักษ์ช้างไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้กำลังใจและช่วยเหลือศูนย์อนุรักษ์ช้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยนายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ทำหน้าที่หลักในการอนุรักษ์และบริบาลช้าง มีช้างในความดูแลจำนวนกว่า 100 เชือก และยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ โปรแกรมการฝึกควาญช้าง สอนให้รู้จักทักษะเบื้องต้นในการขี่ช้าง เช่น เทคนิคการควบคุมช้าง และใช้ภาษาคำสั่งช้าง ซึ่งเป็นช้างที่มีความฉลาดและนิสัยดี และช้างเหล่านั้นเป็นช้างที่ทำงานเป็นช้างแสดงในการแสดงช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ช้าง โปรแกรมชมวิถีชีวิตช้างโขลง นั่งรถชมธรรมชาติสองข้างทางเพื่อไปชมวิถีชีวิตจากช้างบ้านมาเป็นช้างโขลงบริเวณห้วยสุพรรณ ชมช้างโขลงที่เลี้ยงตามธรรมชาติ และดูความน่ารักของลูกช้างน้อย ชมช้างโขลงอาบน้ำ โดยภายศูนย์ฯ มีบริการห้องประชุม อบรม สัมมนา บริการที่พัก/ห้องพัก ด้วย ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ทุกช่องทางออนไลน์ และโทร 0-5482-9333
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของการอนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดสุรินทร์ วธ. โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับชุมชนคุณธรรมฯ บ้านหนองบัว วัดป่าอาเจียง ในการจัดกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ศึกษาวิถีชีวิตคนกับช้าง สร้างรายได้ให้กับช้างตกงาน ในชุมชนคุณธรรมฯ บ้านหนองบัว ซึ่งเป็นชุมชน “บวร On Tour” และเป็นชุมชน “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ในระดับจังหวัดของจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ ยังพื้นฟู และส่งเสริมให้ภูมิปัญญาคนเลี้ยงช้าง มีอาชีพ รายได้ โดยเข้าไปต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้าง เช่น ตะขอช้าง แหวนหางช้าง แหวนงาช้าง สร้างสรรค์เป็นสินค้า CCPOT ของชุมชน คือ ตะขอช้างมงคล รวมทั้งนำชุมชนมาร่วมกิจกรรมขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ในกิจกรรมต่างที่สำนักงานวัฒนธรรมจัดขึ้น โดยในเร็ว ๆ นี้ จะบูรณาการร่วมกับ ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมประเพณีบวชนาคบนหลังช้าง ที่เป็นประเพณีดั้งเดิมของชนชาติพันธุ์กูย/กวย จังหวัดสุรินทร์ และงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน เป็นประเพณีของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อยกระดับประเพณีจากท้องถิ่นให้เป็นงานระดับจังหวัดสู่ระดับนานาชาติ ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว และเกิดรายได้ให้กับคนเลี้ยงช้างในพื้นที่ ช่วยให้คุณภาพชีวิตของช้างดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังได้สนับสนุนโครงการการผลิตสื่อเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ และเทิดทูนคุณค่า ช้างไทย และชาวชาติพันธุ์กูย นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับช้าง ออกไปสู่สาธารณชน โดยจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-BOOK) เรื่อง คชศาสตร์ชาวกูย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ การจัดทำสื่อ สังคมออนไลน์ (SOCIAL MEDIA) ในหัวข้อ ช้าง กูย และคนรักช้าง และจัดทำนิทรรศการภาพถ่าย ในชื่อ อลังการ ช้าง กูย และ คนรักช้าง อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น