วธ.ชูธงจัดงาน “เทศกาลงานประเพณี” ยกระดับ 16 เทศกาล ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อน “Soft Power” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศชาติ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

วธ.ชูธงจัดงาน “เทศกาลงานประเพณี” ยกระดับ 16 เทศกาล ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อน “Soft Power” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศชาติ


นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและนโยบายรัฐบาลโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG รวมทั้งผลักดัน “Soft Power”ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F โดยขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) 


ดังนั้น วธ.จึงได้คัดเลือกงานเทศกาล/ประเพณีที่มีความโดดเด่นในจังหวัดต่างๆที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ร่วมมือกับจังหวัด หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชุมชนจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติโดยเบื้องต้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีแผนยกระดับงานเทศกาลและประเพณี 16 กิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับชาติและนานาชาติ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้วัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า งานเทศกาลและประเพณีจำนวน 16 เทศกาล จะจัดขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน 2565 ประกอบด้วย เดือนเมษายน 4 เทศกาล ได้แก่ 1.ประเพณีแห่ สลุงหลวง สืบสานกลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง จ.ลำปาง 2. ประเพณีภูไทรำลึก จ.สกลนคร 3.ประเพณีปอยส่างลอง จ.แม่ฮ่องสอน 4. ประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย เดือนพฤษภาคม 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. ประเพณีบวชนาคบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ 2. ประเพณีเวียนเทียนทางน้ำกลางกว๊านพะเยา จ.พะเยา 3. ประเพณีสืบสานงานนมัสการหลวงพ่อพระสุก จ.ยโสธร เดือนมิถุนายน 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. เทศกาลเสน่ห์ชุมชน ยลวิถีย่านเมืองเก่า“วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” จ.ภูเก็ต 2. มหกรรมสืบสานตำนานวันสุนทรภู่ กวีเอกของโลก เดือนกรกฏาคม 4 กิจกรรม ได้แก่ 1. ประเพณีแห่ผ้าพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ห่มพระบรมธาตุสวี จ.ชุมพร 2. ประเพณีบูชาพระธาตุ ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองคนดี จ.สุราษฎร์ธานี 


3. ประเพณีสืบสานวัฒนธรรมสี่เผ่าไทศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ 4. ประเพณีห่มผ้าพระนอน จ.อ่างทอง เดือนสิงหาคม 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี 2. ประเพณีทิ้งกระจาด จ.สุพรรณบุรี 3. มหกรรมสืบสานพหุวัฒนธรรม งานของดีเมืองนรา จ.นราธิวาส การจัดงานเทศกาลและประเพณีทั้ง 16 เทศกาล ในครั้งนี้จะเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัด ช่วยให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น สามารถช่วยให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว อาหาร ที่พัก การเดินทาง ศิลปินพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมสูงยิ่งขึ้น


นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า วธ.จะบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัด หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชุมชนในพื้นที่ที่จัดงานเทศกาลและประเพณี โดยปีนี้บางกิจกรรมอาจจะปรับเปลี่ยนช่วงเวลาจัดงานตามความเหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้งานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและเห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ คุณค่าและความสำคัญของมรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อร่วมกัน สืบสาน รักษาและต่อยอดงานเทศกาลประเพณีและมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น