ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันที่ 13 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันช้างไทย รัฐบาลมีนโยบายโดยต่อเนื่องในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งในส่วนการอนุรักษ์ช้างป่าและการยกระดับมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยงให้เป็นที่ยอมรับของสากล
สำหรับส่วนของช้างป่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างมาโดยต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมีโครงการอนุรักษ์ช้างทำให้แนวโน้มประชากรช้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม.
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างถูกบุกรุกเพื่อเป็นที่ทำกิน ตลอดจนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้มีปัญหาช้างออกมาทำลายพืชผลเกษตรในชุมชน ซึ่งในกรณีนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการวางแนวทางทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้สามารถเป็นแหล่งอาหารของช้าง ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในการดูแลรักษาด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับช้าง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับช้าง เช่น ควาญช้าง เจ้าของปางช้าง
โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ก็ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการกำหนดให้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลช้างเป็นมาตรฐานบังคับ เช่น สถานที่ตั้งของปางช้างจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงจากการปนเปื้อนของอันตราย มีคู่มือการจัดการปางช้าง มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้างกำกับดูแลด้านสุขภาพช้าง มีการตรวจสุขภาพของช้างประจำปี เป็นต้น
“การเลี้ยงและการดูแลรักษาช้างทั้งช้างบ้านและช้างป่าของไทยได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในลักษณะเฉพาะตัว แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างจำนวนมากถูกใช้ในภาคการท่องเที่ยว ที่ต้องมีการดูแลให้ได้มาตรฐานการดูแลสัตว์ที่เป็นสากล นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางปฏิบัติที่ดี ป้องกันปัญหาการทารุณกรรมช้าง ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างให้เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น