นายกรัฐมนตรีเปิดพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ผ่านระบบ Video Conference ชูเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ จ.พังงา - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

นายกรัฐมนตรีเปิดพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ผ่านระบบ Video Conference ชูเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ จ.พังงา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันนี้  4 กุมภาพันธ์ 2565  เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ผ่านระบบ Video Conference โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผู้บริหารส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดพังงาเข้าร่วม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

สำหรับพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มสร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ โดยอาคารจัดแสดงหลักเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหน้าออกแบบเป็นเส้นโค้งในรูปแบบของคลื่น และมีช่องเปิดรับแสงเป็นทรงกลมแบบฟองคลื่นกระจายตามความยาวของอาคารทำให้ภายในอาคาร เกิดที่ว่างคล้ายท้องคลื่นยาวตลอดห้องจัดแสดง โดยมีหอเตือนภัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เป็นแลนด์มาร์กที่ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพได้โดยรอบ การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1. จัดแสดงภายนอกอาคาร จัดแสดงเรือประมง 2 ลำ ที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดพาเข้ามาจากชายฝั่ง ส่วนที่ 2. บริการข้อมูล ขายของที่ระลึก ห้องมัลติมีเดียเหตุการณ์ภัยสึนามิ ส่วนที่ 3. จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวประกอบวัตถุจัดแสดงจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และส่วนที่ 4. เป็นพื้นที่ภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดพิพิธภัณฑ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศ คือ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และ “การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม” เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและความสูญเสียให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเชื้อชาติใดหรืออาศัยอยู่ ณ ภูมิภาคใดก็ตาม รัฐบาลจะเร่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยาความเสียหายต่าง ๆ สำหรับภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ แม้ว่าจะผ่านล่วงเลยมาแล้วกว่า 17 ปี แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและญาติพี่น้องของผู้สูญเสียยังคงรำลึกถึงเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งสิ่งของ บ้านเรือน รวมถึงการสูญเสียของบุคคลในครอบครัว และบุคคลที่เป็นที่รู้จัก โดยเห็นได้จากที่การจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปีในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงชุมชนบ้านน้ำเค็มแห่งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายและจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในพื้นที่ประสบภัย 6 จังหวัด ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ส่งผลกระทบด้านจิตใจอย่างประเมินค่าไม่ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับความดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อฟื้นฟูความสุข และสร้างความเจริญมั่นคงให้กลับคืนสู่พื้นที่แห่งนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้หน่วยงานท้องถิ่นและภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่แห่งนี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน และได้รับประโยชน์จากท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ทำให้เพิ่มโอกาส สร้างรายได้ให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ด้านสังคม เป็นอนุสรณ์ความทรงจำที่เล่าเรื่องราวจากเหตุการณ์ภัยสึนามิ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน และข้อมูลต่าง ๆ 2. ด้านเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มจุดขายให้กับบ้านน้ำเค็มให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากขึ้น และชุมชนบ้านน้ำเค็มสามารถที่จะจัดกิจกรรมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนรองรับได้

นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนเรียนรู้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ของภูมิภาค และประเทศไทย เรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดความสูญเสียความเสียหายน้อยที่สุด ขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษ์โลก ให้เป็นโลกที่สงบและร่มเย็น พร้อมกับหวังให้ทุกคนในจังหวัดพังงาร่วมกันดูแล และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดพังงาและของประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น