นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้เชิญโฆษกกระทรวงทั้ง 20 กระทรวงและส่วนงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประชุมคณะกรรมการโฆษกกระทรวง ครั้งที่ 1 /2565 ในวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ โดยเป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference เพื่อบูรณาการแนวทางการประชาสัมพันธ์และการนำเสนอผลงานรัฐบาล เตรียมความพร้อมข้อมูลในการชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของแต่ละกระทรวง ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังให้คำแนะนำและแนวทางการทำงานของโฆษกกระทรวง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ
โดยเน้นการทำงาน “ประสาน – รับ - ขยาย – รุก” ได้แก่ “ประสาน” – ทํางานประสานกับทุกกระทรวงและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อการได้ข้อมูลเชิงลึก ถูกต้อง ครบถ้วน “รับ” - เตรียมรับมือการการปล่อยข่าวสารเชิงลบ การเตรียมทีม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ทันที หาความร่วมมือกับเครือข่าย “ขยาย” - ทํางานเชิงบวก กระจายข้อมูลข่าวสารต่อสื่อมวลชน ทันทีและทั่วถึง และ “รุก” คือ เสนอประเด็นเชิงรุกที่มีผลต่อภาพลักษณ์เชิงบวกต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ต้องนําประเด็นใหม่ ๆ เสนอแก่สื่อมวลชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง และต้องเท่าทันการสื่อสารยุคใหม่ ทั้งผ่านเครือข่ายสื่อมวลชน กลุ่ม influencer และ platform สมัยใหม่ เพื่อเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ เยาวชน คนรุ่นใหม่ ๆ ด้วย และทั่วถึง นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า โฆษกกระทรวง ต้องทำหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจของหน่วยงานและรัฐบาล ยังต้องเป็นด่านแรกในการแถลงและชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงในทันที โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังมีมติให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ “กลาง” “ประจำกระทรวง” “ประจำจังหวัด” ถือเป็นช่องทางขจัดข่าวปลอม (Fake news) ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 65
นายธนกร กล่าวว่า ในส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้นกลางเดือนนี้ รัฐบาลไม่มีความกังวล นายกรัฐมนตรีมั่นใจรัฐมนตรีทุกท่าน สามารถตอบทุกคำถามทุกข้อสงสัย ที่ผ่านมา รัฐบาลทำงานโดยคำนึงถึงการแก้ปัญหาของประเทศและบนประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากการติดตามการอภิปรายในครั้งนี้ เพราะจะได้เห็นถึงผลงานรัฐบาล ซึ่งหลายโครงการประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของประชาชน เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกำชับให้ตนและโฆษกกระทรวง ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น หากมีการจงใจนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน ขอให้โฆษกกระทรวงต้องรีบชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลให้โฆษกรัฐบาลเพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบอีกครั้งหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น