“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ชายแดนสระแก้ว ตรวจความพร้อมการนำเข้า MOU แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการค้ามนุษย์ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ชายแดนสระแก้ว ตรวจความพร้อมการนำเข้า MOU แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการค้ามนุษย์



เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ตรวจความพร้อมการนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติ ตาม MoU ณ ศูนย์กักกัน (OQ) โรงแรมอินโดจีน แกรนด์ เรสซิเด้นซ์ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีนายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับ โดยกล่าวชื่นชม และให้กำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่บูรณาการร่วมกันทำงานอย่างราบรื่น ว่า ขอชื่นชม และเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย พื้นที่ชายแดน เป็นพื้นที่สำคัญ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบ เข้าไปถึงพื้นที่ตอนใน จนกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข ให้สำเร็จลุล่วงได้โดยง่าย อีกทั้ง การแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนต้องคำนึงถึง ความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้มอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกหน่วยงาน ได้นำไปปฏิบัติเพื่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

“การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการค้ามนุษย์ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญ ปฏิบัติงานเข้มข้น และจริงจัง หากมีการดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวน ทำสำนวน อย่างรอบคอบ ครอบคลุมทุกฐานความผิด และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในขบวนการค้ามนุษย์ อย่างเด็ดขาด ให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการ การนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม เข้มงวด และครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงาน และการลักลอบทำงาน อย่างผิดกฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อทุกรูปแบบไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อ จนถูกหลอกลวงไปทำงาน หากพบ ต้องให้ความช่วยเหลือ ดูแลอย่างดีที่สุด พร้อมทั้ง หาผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดทั้งขบวนการ มาลงโทษให้ได้” พล.อ.ประวิตรฯ กล่าว



ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน
กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายตนลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ร่วมกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เพื่อตรวจเยี่ยมมาตรฐาน ศูนย์กักกัน (OQ) ซึ่งใช้กักกันแรงงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยศูนย์กักกัน (OQ) โรงแรมอินโดจีน แกรนด์ เรสซิเด้นซ์ มีมาตรฐานตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่สาธารณสุขกำหนด มีความสะอาด และสะดวกสบายพอสมควร มีจำนวนห้องพัก 200 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด500 เตียง มีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 8,500 บาทต่อคน มีรถของสถานกักตัวรับจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ ในส่วนคนต่างด้าวหากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้จัดหาวัคซีน และ ฉีดให้ระหว่างการกักตัว

สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องกาiนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU มีขั้นตอน ดังนี้

1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ แบบ นจ.2 หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน และเอกสารนายจ้าง

2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

4.1 บัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง

4.2 แบบ บต.31 หรือ บต.33 พร้อมเอกสารและหลักฐาน

4.3 หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 3 เดือน

4.4 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว ได้แก่ ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว/กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19

4.5 หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด

4.6 หลักฐานที่ยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว

4.7 กรณีเข้าประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน

4.8 กรณีเข้าประกันสังคม นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน

- ชำระค่าคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท

- วางเงินประกัน (กรณีนายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) หลักประกัน 1,000 บาท/คนต่างด้าว 1 คน

5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non - Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว

6.เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน)

7. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ด้วยวิธี RT - PCR ดังนี้

1. คนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด - 19 จำนวน 2 ครั้ง

2. คนต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด - 19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด - 19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงฉีดวัคซีนให้แก่คนต่างด้าว และให้นายจ้างรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ

8. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น