นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการเปิดงาน และมอบนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม วันนี้ (7 ก.พ. 65) ซึ่งมีพล.ต.ท. สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมในการเปิดการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงผู้กำกับ
สำหรับการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประสานงานแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งรวมถึงแก๊ง Call Center ที่กำลังระบาดหนัก จึงเห็นความสำคัญของการขยายความร่วมมือในการประสานงานแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน ซึ่งจะครอบคลุมถึงการปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามแดนด้วย
“กระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญ ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมอบอำนาจให้ตำรวจในพื้นที่ สามารถดำเนินการได้ตามคดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ผ่านมาได้ลงนามมอบอำนาจนี้ให้กับตำรวจไซเบอร์ ของบช.สอท. ขั้นตอนจากนี้ก็จะมอบอำนาจให้ถึงระดับตำรวจภูธร เพื่อรองรับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปของการซื้อขายออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างมาก” นายชัยวุฒิกล่าว
สำหรับการจัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม และการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนให้ได้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด และในการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแก๊ง call center หลอกลงทุน แอปเงินกู้ อาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ และเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินคดีช่วยเหลือผู้เสียหายต่อไป
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้แอปพลิเคชั่นกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยเฉพาะการจ่ายเงินผ่านออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ เป็นต้น ประกอบกับอาชญากรรมทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ได้พบเห็นกันทั้งโลก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะกำกับดูแล บทบาทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเร่งการทำงานร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในภารกิจแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์
สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้เป็นรูปแบบออนไลน์ ระยะเวลา 5 วัน เนื้อหาหลักสูตรครอบคลุม 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การอบรมด้านจริยธรรม /จรรยาบรรณที่พึ่งมีในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 2. ความรู้พื้นฐานด้านการสืบสวนและสอบสวนเพื่อบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) และ 3.การพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensics)
พล.ต.ท. สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน และปรามปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ในปัจจุบัน ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องสร้างบุคลากรให้สามารถในการสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
ในโอกาสนี้ได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลฯ ในการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพแก่ข้าราชการตำรวจ เพื่อให้มีคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 381 นาย ครอบคลุม ระดับสารวัตรถึงผู้กำกับ จากหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ
“ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจทั้งประเทศ ทั้งจาก กองบัญชาการสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการสืบสวนสอบสวน และตำรวจภูธรภาค 1-9 ในการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน” พล.ต.ท. สราวุฒิกล่าว
รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าวย้ำว่า ก่อนที่จะประกาศใช้ "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. …." กระทรวงจะต้องเตรียมความพร้อม ซักซ้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ร่างระเบียบฯดังกล่าวกระทรวงดิจิทัลฯ ได้นำเสนอและผ่านการอนุมัติจาก ครม. โดยกำหนดบทนิยามที่สำคัญ ได้แก่ 1.1 “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” หมายความว่า สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2564 และ 1.2 “ข่าวปลอม” หมายความว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในสื่อสังคมออนไลน์ หรือในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ภาคสังคม และสื่อมวลชนว่า รัฐบาลมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม การสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake news) ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งการกำหนดหลักการและแนวทางการทำงานและบูรณาการทำงานที่ชัดเจนตามร่างระเบียบฯ ฉบับนี้จะลดความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว
“สำหรับกรณีที่มีนักวิชาการบางรายเสนอว่า ควรเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนนั้น ที่ผ่านมาศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ มีการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้อยู่แล้ว สื่อมวลชน อินฟลูเอ็นเซอร์ และสำนักข่าวหลายแห่ง เป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ฯ หลังได้รับผลการตรวจสอบข่าวที่ทางศูนย์ฯ ได้มาจากระบบ social monitoring และการแจ้งเบาะแสจากประชาชน และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบยืนยัน (verify)” นายชัยวุฒิกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น