ปลัดมท.ย้ำ พาณิชย์จังหวัดต้องเป็นขรก.ที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่นอกเหนือจากหน้าที่ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ด้วยการเสียสละ ทุ่มเท และมีอุดมการณ์ในการ Change for Good - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปลัดมท.ย้ำ พาณิชย์จังหวัดต้องเป็นขรก.ที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่นอกเหนือจากหน้าที่ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ด้วยการเสียสละ ทุ่มเท และมีอุดมการณ์ในการ Change for Good

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “มุมมองภาครัฐกับการสร้างความร่วมมือและประสานสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในภูมิภาค” ผ่านระบบ Zoom meeting โดยมี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร Leadership for Leader : พาณิชย์จังหวัด รุ่นที่ 2 ร่วมรับฟัง เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2533 ความว่า “...ทุกคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทำเฉพาะหน้าที่นั้นเพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่ เฉพาะของตัว โดยไม่มองดูคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้น แต่ละคนจะต้องรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้ว ช่วยกันทำ...” ซึ่งข้าราชการทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยใด ต่างเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัว ที่มีอุดมการณ์ มีแรงบันดาลใจเดียวกัน ในการทุ่มเท อุทิศตน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน ซึ่งมิใช่มีเพียงทำหน้าที่ตามมิติของงานที่กฎหมายกำหนดหรือผู้บังคับบัญชามอบหมายซึ่งเป็นเพียงหน้าที่ขั้นต่ำเท่านั้น แต่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งเบาภาระการทำงาน สนับสนุนช่วยเหลือส่วนราชการอื่น หรือ “บูรณาการร่วมกัน” ทำให้เกิดผลสำเร็จในงานที่บริบูรณ์เพิ่มมากขึ้น การที่เรามีความสามัคคี มีน้ำจิตน้ำใจ ไม่นิ่งดูดาย ช่วยเหลือกัน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นหน้าที่โดยตรงหรือเป็นหน้าที่ส่วนราชการอื่น หากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราก็พร้อมที่จะเสียสละ ก็จะทำให้มีเพื่อนร่วมงานเพิ่มขึ้น และเกิดการเพิ่มพูนเครือข่ายขับเคลื่อนอุดมการณ์มากขึ้นอีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนการทำงาน “คน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดความสำเร็จของงาน จึงต้องเสริมแรงบวก ปลุกพลังอุดมการณ์ ความมุ่งหมายทำสิ่งดี ๆ ให้ประเทศชาติ ด้วยการค้นหาสิ่งที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงตนเอง เพื่อให้เกิดความสำเร็จต่อส่วนร่วม เป็นต้นแบบในการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดกับหน่วยงานและสังคมได้ โดยต้องอาศัย 1) ความรู้ (Knowledge) ทั้งระเบียบ กฎหมาย วิชาการ ดิจิทัล หลักการบริหาร สิ่งแวดล้อม และแนวทางการทำงานใหม่ ๆ 2) ทักษะความสามารถในการทำงาน (Ability) เพื่อให้งานเกิดความสำเร็จ และ 3) ทัศนคติ (Attitude) ที่ดีที่มีความสำคัญต่อการชี้วัดว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำงานให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชน โดยเมื่อ Knowledge x Ability x Attitude จะมีค่าเท่ากับ Success หรือ “ความสำเร็จของงาน” จึงต้องช่วยกันเสริมสร้างทั้งองค์ความรู้ ทักษะการทำงาน และทัศนคติให้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้องค์กรมีปัจจัยที่เกื้อกูลต่อความสำเร็จในการสร้างคุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับส่วนรวม พร้อมเสริมสร้างพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น สโมสรโรตารี หอการค้า สภาวัฒนธรรม สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน สร้างความสนิทสนมคุ้นเคย ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความสนิทสนมเป็นญาติอย่างยิ่ง” อันจะทำให้เรามีพรรคพวกในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพิ่มขึ้น โดยหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของข้าราชการทุกคนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ “ทำให้ผู้บังคับบัญชาทำตามในสิ่งที่เราอยากให้ทำ โดยสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งดี ให้เกิดกับพี่น้องประชาชน” เป็นคลังสมอง (Think-Tank) ให้กับจังหวัด เพื่อตอบสนอง Passion ที่อยากเห็นสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น มิใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสินค้า แต่ต้องช่วยกันส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกันทำให้จังหวัด ทำให้สังคมในพื้นที่น่าอยู่ในทุกมิติ ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความรู้รักสามัคคี ของข้าราชการในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทรงส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนกลุ่มผู้ทอผ้าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่ง “ผ้าไทย” เป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคง เข้มแข็ง คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนดีขึ้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1) ทำให้เศรษฐกิจฐานรากดี 2) สร้างความมั่นคงเรื่องเครื่องนุ่งห่มให้กับประเทศชาติ และ 3) สืบทอด อนุรักษ์ รักษาภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ทั้งยังพระราชทานแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อันถือเป็นพระวิสัยทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์ให้คนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ผ้าไทยได้ โดยทรงเชิญนักออกแบบ (Designer) ชื่อดัง เช่น หมู อาซาว่า อู๋ วิชระวิชญ์ ฯลฯ มาร่วมนำผ้าไทยไปตัดเย็บเป็นชุดตามแบบ ตามสไตล์ และได้กล่าวถึงการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อลดรายจ่าย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พี่น้องประชาชนมีพืชผักเป็นอาหารที่ปลอดภัย และส่งเสริมต่อยอดเลี้ยงเป็ด ไก่ อันจะทำให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึงการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดตามกฎหมายของแต่ละกระทรวง กรม รวมจำนวน 202 คณะ โดยมีคณะกรรมการชุดสำคัญที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานของพาณิชย์จังหวัด 3 คณะ คือ 1) คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.จังหวัด) เป็นกลไกสำคัญในการช่วยทำให้เศรษฐกิจของทุกจังหวัดมีการพัฒนาการที่ดี ทั้งในแง่การเจริญเติบโตและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 2) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และ 3) ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด (ศจพ.จังหวัด) ซึ่งในแต่ละชุดต่างมีเป้าหมายเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน จึงต้องใช้กลไกองคาพยพเหล่านี้ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเพิ่มพูนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ และต้องไม่ทอดทิ้งภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำการศึกษา/ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน โดยเฉพาะภาคสื่อมวลชนที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนโดยอัตโนมัติ เพราะทุกคนสามารถสื่อสารทำความเข้าใจ โฆษณาประชาสัมพันธ์ งานที่เราขับเคลื่อนผ่านโซเชียลมีเดียของเราเอง หรือหน่วยงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนการทำงานใหม่ ในรูปแบบ PPP ได้แก่ ชุมชน (Private) ประชาสังคม (Public) และประชารัฐ (People) อันเป็นหลักประกันให้ประเทศชาติมีความมั่นคงที่ยั่งยืน ในรูปแบบ Social Government Dynamic หรือ SG Dynamic เกิดเป็นโครงสร้างทางสังคมที่คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบต่อส่วนรวม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พาณิชย์จังหวัดและข้าราชการในสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่เป็นเพียงข้าราชการของกระทรวงพาณิชย์ เพราะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความเป็นสากล ความหลากหลาย (Universal) มีสมาชิกอยู่ครบทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเราทุกคนจะได้ตอบสนองต่อ Passion และ Attitude ที่อยากเห็นพี่น้องประชาชนมีความสุข โดยต้องคำนึงอยู่เสมอว่า “งานราชการนั้นเป็นงานของแผ่นดิน พวกเราทุกคนต้องสำเหนียกและตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงฐานะและหน้าที่ของเรา และตั้งใจปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยสุจริตเที่ยงตรง มีสติย้ำคิดว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรละเว้น เพื่อบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือ ความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน” น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานให้กับพวกเราทุกคน โดยทรงเน้นย้ำให้ข้าราชการต้องอาศัยความรู้ 3 ส่วนในการปฏิบัติราชการ คือ 1) วิชาที่ถูกต้อง 2) รู้การปฏิบัติงานตามหน้าที่ และ 3) รู้คิดวินิจฉัย หลักวิชา และหลักธรรม ให้สมบูรณ์พร้อม เพื่อปฏิบัติงานได้บรรลุสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน พร้อมทั้งสนองพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชปณิธาน และพระปณิธานของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ต่างทรงมุดมาดปรารถนาในเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ประโยชน์สุขต่อประชาชนและประเทศชาติ และช่วยกันปลุกพลัง ระดมสรรพกำลังผู้นำภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่แก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน อันหมายถึงความเดือดร้อนทุกเรื่องที่มีอยู่และประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ส่งผลทำให้ขาดโอกาสต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากหัวใจของข้าราชการที่ต้องดูแลพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะข้าราชการ คือ คนของพระราชา มีหน้าที่ทำราชกิจแทนพระองค์ท่าน ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ในช่วงท้าย ผู้เข้ารับการอบรมได้ร่วมกันซักถามแลกเปลี่ยนประเด็นการขับเคลื่อนการทำงานในบริบทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพื่อสนับสนุนภารกิจของจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่ง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบข้อซักถาม โดยเน้นย้ำเพิ่มเติมว่า บทบาทของพาณิชย์จังหวัดนอกเหนือจากการทำตามหน้าที่ที่เป็นตัวชี้วัด (KPIs) ของกระทรวงพาณิชย์ และระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดไว้ ซึ่งถือเป็น “หน้าที่ขั้นต่ำ” ส่วน “หน้าที่ขั้นดี” ที่ต้องเหนือกว่าหน้าที่ขั้นต่ำ คือ การที่จะต้องมีความเสียสละ ทุ่มเท และมีอุดมการณ์ในการที่จะ Change for Good ให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือขึ้นไป คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหัวหน้าส่วนราชการในระดับเดียวกัน ได้ร่วมกับตัวเราในการทำสิ่งที่ดีตามที่เราได้ริเริ่ม ด้วยการทำงานเป็นทีมอย่างแนบเนียน ปิดทองหลังพระด้วยความภาคภูมิใจ ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความสนิทสนมเป็นญาติอย่างยิ่ง” และข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทาน ปี 2547 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” และต้องมองบริบทการทำงานองค์รวม ครอบคลุมบริบททางสังคม ภูมิสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และกระตุ้นปลุกเร้าให้สังคมได้ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ เช่น การสวมใส่ผ้าไทย โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ชมรมผู้ประกอบการโอทอป รณรงค์ให้พี่น้องประชาชนได้สวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน อันเป็นเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับผู้ทอผ้าซึ่งเป็นผู้สืบทอดวิถีภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้คงอยู่ ช่วยกันเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ความเสียสละให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมทั้งช่วยกระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกโครงสร้าง/องค์กรที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของจังหวัดให้มีการขับเคลื่อนอย่างคึกคัก พร้อมทั้งน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไปปฏิบัติ อันจะทำให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดความยั่งยืน พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “การเป็นพาณิชย์จังหวัดที่ดี คือ การเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น