พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้งที่จะตามมา ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักและสำนักงานเขตเตรียมแผนรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค 2. ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 3. ด้านปัญหาน้ำเค็มเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง 4. ด้านถนนทรุดตัวรวมทั้งคลองสายต่าง ๆ 5. ด้านการสาธารณสุข (โรคระบาด) และ 6. ด้านเพลิงไหม้อาคารและเพลิงไหม้หญ้า เพื่อเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ทันท่วงที โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งได้ทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ กรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในการติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อน ปริมาณการระบายน้ำ พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรต่างๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตร ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเล็กน้อย จากการรายงานของสำนักงานเขตมายังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่ามีเกษตรกรในพื้นที่เขตทุ่งครุ จำนวน 369 ครัวเรือน เริ่มประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสำนักงานเขตทุ่งครุได้แนะนำเกษตรกรจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำฝนไว้สำรองใช้ และใช้น้ำประปาในการเกษตรและการปศุสัตว์ และอื่น ๆ พร้อมทั้งได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำในกรณีเร่งด่วนสำหรับบริการน้ำจืดให้กับเกษตรกรที่มีความจำเป็นและได้ร้องขอความช่วยเหลือ และพบปัญหาด้านน้ำเค็มทำให้ไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติบางแห่งมารดน้ำต้นไม้ในพื้นที่เขตบางคอแหลมได้ ซึ่งสำนักงานเขตบางคอแหลมได้แก้ไขปัญหาโดยการจัดหาแหล่งน้ำใหม่มาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ เช่น ใช้น้ำจากโรงบำบัดน้ำช่องนนททรี เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำได้ขุดลอกคลองสายรองเพื่อผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่เขตคลองสามวาได้มีการขุดลอกคลองแปดเพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้ามาถึงคลองสี่ตะวันออกได้มากขึ้น หรือในพื้นที่เขตลาดกระบังก็มีการขุดลอกคลองเพื่อให้น้ำจากคลองลำปลาทิวสามารถไหลเข้าสู่คลองลำพะอง คลองกระทุ่มล้ม และคลองลำตาอินได้ รวมถึงยังมีการทำทำนบชั่วคราวพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองตาสอน เพื่อสูบน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ทุกสำนักงานเขตยังเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือ ให้ประชาชน ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ ประเมินสถานการณ์ สภาพคลองและประตูระบายน้ำ หากพบความผิดปกติเบื้องต้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานในพื้นที่เพื่อซ่อมบำรุง และได้รณรงค์ให้ช่วยกันดูแลคลองให้ใสสะอาดปราศจากผักตบ โดยส่งเสริมให้ทำปุ๋ยหมักจากผักตบ เป็นต้น พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ร่วมซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมการป้องกัน เฝ้าระวัง วางแผนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย งดการทำนาปรัง วางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ป้องกันและลดความเสียหายด้านปศุสัตว์ งดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง และในระหว่างเว้นช่วงการทำเกษตร ซึ่งหากมีเกษตรกรที่สนใจจะทำอาชีพเสริม หรืออาชีพอื่นทดแทนช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรแบบปกติได้ ทางสำนักพัฒนาสังคมพร้อมจัดฝึกอาชีพเสริมให้ด้วย
ส่วนปัญหาน้ำเค็ม ทางสำนักการระบายน้ำมีการเฝ้าระวังการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ การควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาในคลองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร อีกทั้งยังได้เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการ Water Hammer Operation (กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มไม่ให้มีผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาให้มากที่สุด
ขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดได้ทั้ง 8 แห่ง ไปใช้ในกิจกรรมเพื่อปัญหาการขาดแคลนน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน กรุงเทพมหานครได้มีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 8 แห่ง รวมปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดทั้งสิ้น 815,000 ลบ.ม./วัน ประกอบด้วย โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 15,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 20,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 100,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 140,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 60,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 140,000 ลบ.ม./วัน โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 240,000 ลบ.ม./วัน และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 100,000 ลบ.ม./วัน โดยประชาชนสามารถไปขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดได้ทั้ง 8 แห่ง หรือสอบถามได้ที่ 0 2248 5115
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น