”บิ๊กจ้อน”แจงกมธ.รับมือผลไม้ปี65 เผยไทยส่งออกทำลายสถิติ ครองตลาดผลไม้จีนเป็นอันดับ1 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

”บิ๊กจ้อน”แจงกมธ.รับมือผลไม้ปี65 เผยไทยส่งออกทำลายสถิติ ครองตลาดผลไม้จีนเป็นอันดับ1


เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 65 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าประชุมกับคณะกรรมธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมที่รัฐสภาเพื่อตอบข้อซักถามและร่วมหารือแสดงความคิดเห็นโดยมี นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นประธาน ดร.ประกอบ รัตนพันธ์คณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย นายวีระกร คำประกอบที่ปรึกษากรรมการ และคณะกรรมาธิการฯ นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมหารือให้ข้อมูล และผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมทุเรียนไทย ผู้แทนสมาคมผูประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และผู้แทนสมาคมผู้ค้าและส่งออกลำไยภาคตะวันออก เข้าร่วมประชุม



นายอลงกรณ์ชี้แจงถึงศักยภาพผลไม้ไทยและผลงานรัฐบาลโดยในปี2564ประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดผลไม้ในจีน45% เป็นอันดับ1 และส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า1.6แสนล้านบาท(ม.ค-พ.ย2564) โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกทะลุแสนล้านเป็นครั้งแรกแม้จะเผชิญปัญหาด่านและการขนส่งจากผลกระทบโควิด19โดยยึดแนวทางและมาตรการการบริหารจัดการผลไม้รวมทั้ง การปฏิรูปเชิงระบบภายใต้5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ. และแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570 นอกจากนี้นายอลงกรณ์ยังชี้แจงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรและผลไม้ ,โครงการ1กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารสู่เกษตรมูลค่าสูง (กรกอ.), ศูนย์AIC(ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม:Agritech and Innovation Center) 77 จังหวัด และ ศูนย์ความเป็นเลิศ 23 แห่งสนับสนุนด้านR&D การอบรมบ่มเพาะ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เน้นMade in Thailand เช่นเทคโนโลยีจุลินทรีย์ขจัดการปนเปื้อนและคงสภาพความสดของผลไม้ได้เพิ่มขึ้นโดนAICจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเทคโนโลยีไนโตรเจน( Nitrogen Technology ), การบริหารข้อมูลโดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Big Data Center :NABC) ,การบริหารLogistics ผลไม้ และสถานการณ์ด่านรวมทั้งการขนส่งเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยขบวนรถไฟขนสินค้าเกษตรของไทยไปจีนเที่ยวปฐมฤกษ์ออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้27ม.ค.2565ส่วนการขนส่งผลไม้ไทยเหลือเพียงการก่อสร้างด่านตรวจพืชของจีนที่ด่านรถไฟโมฮ่านก็เริ่มใช้บริการได้ ในขณะที่สถานการณ์ด่านและการขนส่งมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้ง4ด่านหลักเปิดบริการยกเว้นช่วงตรุษจีนแต่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการZero Covid ส่วนค่าระวางเรือเริ่มลดลงมีสายการเดินเรือเพิ่มขึ้น



นายอลงกรณ์ยังได้นำเสนอตัวเลขการส่งออกปี 2564ซึ่งสามารถส่งออกทำสถิติสูงสุด ทุเรียนทะลุแสนล้านทั้งนี้ 11เดือน(ม.ค.-พ.ย.)ของปี 2564ส่งออกผลไม้7ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่และมะม่วง

จำนวน1,992,751ตันคิดเป็นมูลค่า 165,624ล้านบาทเพิ่มขึ้น 40.75% เทียบกับปี 2563ที่ส่งออก1,718,228ตันมูลค่า 117,673ล้านบาท สำหรับทุเรียนส่งออก 903,700ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น38.29% คิดเป็นมูลค่า115,459ล้านบาท เติบโต59.11% เทียบกับปี2563ส่งออก653,476ตัน มูลค่า72,566ล้านบาท ทางด้านฤดูกาลผลิตปี2565 คาดว่าจะมีผลผลิตออกมา5,200,009ตัน เพิ่ม11.39%หรือเพิ่มกว่า5แสนตันเทียบกับปี2563ที่มีปริมาณ4,668,435ตัน โดย17มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 เพื่อดูแลบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ เป็นมาตรการหลักในการขับเคลื่อนเช่น

1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน

3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3 %และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน

4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฎหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน

5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศเป็นต้น

ส่วนในกรณีเกิดวิกฤติได้มีการออก5มาตรการแก้ไขปัญหาล่วงหน้าทั้งระบบ ปี 2565ได้แก่

1) มาตรการป้องกันเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเหตุการณ์ไม่ปกติ

2) มาตรการช่วยเหลือในการกระจายสินค้า ควบคุม คุณภาพและกระตุ้นการบริโภคผลไม้

3) มาตรการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทย

4) มาตรการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้

5) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ

นายอลงกรณ์ได้ชี้แจงประเด็นเรื่อง GAPว่ากรมวิชาการมีการถ่ายโอนภารกิจมอบให้เอกชนรับรองแปลงสวน GAP ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2553ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา นำร่องแปลงที่มีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ ปีที่สอง จะถ่ายโอนตั้งแต่พื้นที่ 20 ไร่ ขึ้นไป ปีที่สาม จะถ่ายโอนตั้งแต่ พื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ ขึ้นไป และในปีสุดท้ายจะถ่ายโอนภารกิจทั้งหมด โดยที่กรมวิชาการเกษตรจะตรวจรับรองให้เฉพาะสมาชิกของกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร เกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นมาเท่านั้น

โดยมีหน่วยตรวจรับรองเอกชนที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองมาตรฐาน GAP แทนราชการ โดยกรมวิชาการจะดูแลอัตราค่าบริการที่เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นประธาน คณะกรรมาธิการฯแสดงความพอใจต่อการชี้แจงครั้งนี้และการทำงานของฟรุ้ทบอร์ดและจะทำหนังสือเป็นข้อเสนอถึงรัฐมนตรีเกษตรฯ.ในฐานะประธานFruit Boardต่อไป

นายอลงกรณ์กล่าวในท้ายที่สุดขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ.ที่ห่วงใยชาวสวนและมีข้อเสนอที่ดีโดยคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธานจะมีการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 17 ก.พ.และจะนำข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาความเดือนร้อนของชาวสวนลำไย ฤดูกาลผลิตปี 2564 และแนวทางช่วยเหลือเช่นมาตรการเยียวยาทั้งนี้ขึ้นกับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาคมต่างๆเช่นเรื่องGreen lane เรื่องด่าน เรื่องการผ่อนผันผ่อนปรนGAPสำหรับเกษตรกรซึ่งรู้สึกเห็นใจเกษตรกรที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะชาวสวนรายย่อย.







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น