เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 65 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ในปี 2565 ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน จากนั้นช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะ ๆ และร้อนจัดในบางแห่ง กับจะมีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง อาจก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องประชาชนพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมการรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เร่งเตรียมความพร้อม ด้วยการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจก่อให้เกิดพายุฤดูร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเร่งตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง รวมถึงไม้ยืนต้นตามสถานที่สาธารณะ หากพบมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าซ่อมแซมตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาช่วยกันสอดส่อง ปรับปรุง ดูแลให้เกิดความปลอดภัย นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ ทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของที่พักอาศัย ช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลประชาชนผ่านทุกช่องทางสื่อสาร เช่น โซเชียลมีเดีย วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว/เสียงตามสายประจำหมู่บ้าน และเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ เป็นต้น
สำหรับในด้านการเผชิญเหตุ หากเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ ให้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยในกรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้แบ่งมอบภารกิจ พื้นที่รับผิดชอบ และบูรณาการหน่วยงาน จัดทีมในรูปแบบ “ทีมประชารัฐ” เร่งเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน หากเป็นกรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ให้เร่งแก้ไขไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะ และซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกตีโดยเร็ว นอกจากนี้ ในกรณีความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสรุปรายงานสถานการณ์ให้กระทรวงมหาดไทยทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
“ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือน สื่อสารสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์ รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารและขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ พร้อมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนจิตอาสา สมาคม มูลนิธิ ในการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์ภัย ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น