ปลัดฯ สุทธิพงษ์ บรรยายพิเศษ “130 ปีกระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปลัดฯ สุทธิพงษ์ บรรยายพิเศษ “130 ปีกระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”


ปลัดฯ สุทธิพงษ์ บรรยายพิเศษ “130 ปีกระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เน้นย้ำ ชาวมหาดไทย – พี่น้องเทศบาล – อปท. ทั่วประเทศ ร่วม น้อมนำแนวพระราชดำริ สืบสานพระบรมราชปณิธาน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน

ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง “130 ปีกระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมี พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และนายกเทศมนตรี ทั่วประเทศ ร่วมรับฟัง  เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 65 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชปณิธานและพระราชประสงค์ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาราษฎร ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 ที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ทำให้พวกเราทุกคนจะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 พระองค์มีความเป็นเนื้อเดียวกันในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทย พวกเราในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการขับเคลื่อนอำนวยประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ในฐานะราชการบริหารส่วนกลาง รวมถึงจังหวัด อำเภอ ในฐานะราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และความร่วมมือกับนายกเทศมนตรีและนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ในการขับเคลื่อนการทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การมุ่งมาดปรารถนาอยากเห็นพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตบริหารจัดการของเทศบาล และเขตท้องที่อำเภอ จังหวัด มีความสุขอย่างยั่งยืน ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ซึ่งไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเพียงใด ชาวมหาดไทย และชาวเทศบาล รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีตรา “ราชสีห์” ที่ปกเสื้อเหมือนกัน ต่างทำหน้าที่ในการสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการสาธารณะ และการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์และความสุขเสมอมา นอกจากนี้ ในการบริหารราชการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หมั่นตรวจสอบว่างานที่ขับเคลื่อนบริบูรณ์ หรือมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างไร รวมทั้งมอบหมายภาระหน้าที่รับผิดชอบให้กับบุคลากรที่มีความเหมาะสมตามหลัก put the right man on the right job และวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน ตามหลัก SWOT Analysis เพื่อให้เกิดการพัฒนางานสนองตอบต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนมากที่สุด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการอันแน่วแน่ในการสืบสานพระบรมราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังตอนหนึ่งของพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯทรงเปิดงานวันสตรีไทย 1 ส.ค. 62 ที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณพระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี...” ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี ซึ่งล้วนแต่ทรงมีพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เช่น ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ด้วยการพระราชทานวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำที่คุณภาพไม่ดี ก่อนปล่อยลงทะเล ซึ่งเมื่อแก้ไขลุล่วงแล้ว ประชาชนในพื้นที่ต่างใช้ชีวิต ทำการประมง ประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข รวมถึงโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เช่น การลดการปลูกฝิ่น การส่งเสริมอาชีพจากพืชเมืองหนาว หรือทฤษฎีใหม่ เรื่อง การบริหารจัดการน้ำ “จากนภาผ่านภูผาสู่มหานที” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโลกของเรา ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดที่เราต้องร่วมกันตระหนักและช่วยกันแก้ไข คือ ต้นตอของปัญหาความปกติสุขของคนในโลก ซึ่งคลื่นลูกแรก คือ ปัญหาการทำลายล้างความหลากหลายทางชีวภาพ (bio-diversity Collapse) ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ นำมาสู่คลื่นลูกที่ 2 สภาวะโลกร้อน (Climate Change) เพื่อให้คนตระหนักและช่วยกันลดภาวะโลกร้อนให้รุนแรงน้อยลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ และต่อมาคลื่นลูกที่ 3 ผลกระทบที่เรียกว่า Butterfly effect อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (Recession) และเกิดความรุนแรง ความสูญเสียสมดุลของธรรมชาติ และเกิดการเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอาจจะเกิดโรคภัยอื่น ๆ ในอนาคต รวมไปถึงแนวพระราชดำริผ่าน ส.ค.ส. พระราชทาน ปี 2547 ของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่แสดงถึงลูกระเบิดที่มาจากเศรษฐกิจตกต่ำ ลูกระเบิดที่มาจากสิ่งแวดล้อม ลูกระเบิดที่มาจากโรคระบาด ลูกระเบิดที่เกิดจากความขัดแย้งของสังคม โดยได้พระราชทานแนวทางไว้ว่า “ความรัก ความสมัครสมาน สามัคคี จะทำให้พวกเราทุกคนอยู่รอด” อันเป็นทางออกของประเทศชาติของเรา ทำให้เราได้รู้ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความเจริญมากขึ้น แต่ในโลกนี้ยังมีภยันตรายที่เกิดขึ้นเหมือนลูกระเบิดดังกล่าว ดังนั้น หน้าที่ของทุกคน คือ ทำยังไงเราถึงแก้ไขที่ต้นตอ เทศบาลต้องร่วมกันเพิ่มพูนแนวพระราชดำริ ให้เกิดความยั่งยืน” ด้วยความเพียร ความอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่ทะเลาะกัน และถ้าทำโดยเข้าใจกัน ทุกคนจะมีความพอใจได้ และทุกฝ่ายจะมีความสุข ทำงานโดยคำนึงถึงภูมิสังคม สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ทำจากจุดเล็ก ๆ ไปสู่จุดใหญ่ สุดท้ายสิ่งที่ดีก็จะเต็มเขตเทศบาล เขตอำเภอ เขตจังหวัด เต็มกลุ่มจังหวัด เต็มภาค เต็มประเทศ และถ้าทั่วโลกทำกันก็จะเต็มโลก โลกทั้งใบก็จะมีความสุข ความสามัคคีหรือความร่วมมือกันจะเป็นฐานอยู่ตลอดเวลา พวกเราทุกคนในฐานะนักปกครองท้องถิ่น ต้องร่วมมือกับนักวิชาการ และทุกภาคีเครือข่าย เพื่อเป้าหมายสูงสุดของพวกเรา คือ “การพัฒนาคน” นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้สร้างสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ และโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเทศบาลสามารถส่งเสริมการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ในเขตพื้นที่ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้รู้จักการอนุรักษ์ต้นไม้ การปลูกพืชผักสวนครัว ผักคอนโด ผักลงดิน หรือกระถาง กะละมัง ปลูกใบสะระแหน่ ผักชี มะเขือ มะนาว เพื่อได้รับประทานผักที่สะอาด ปลอดภัย ลดรายจ่าย และอาจเพิ่มรายได้ รวมไปถึงการขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า การดูแลไม่ให้สุนัขจรจัดทำอันตรายกับผู้คน ซึ่งเป็นชีวิตของคน ไม่เกี่ยวกับสุนัข สุนัขเป็นเพียงต้นทาง แต่ปลายทางเป็นเรื่องคนทั้งสิ้น และการส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิตของเยาวชนผ่านโครงการ To be No.1 ในพระดำริทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุขทั้งปวง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธาน “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ในการแก้ไขปัญหาคนกับช้าง โดยเฉพาะการช่วยเหลือให้ประชาชนให้มีอาชีพที่ยั่งยืนตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่และจัดทำแผนชุมชนการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีความมั่นคง เกิดเครือข่ายในการพัฒนาต่อเนื่อง ที่สำคัญจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนและช้างได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการหมู่บ้านคชานุรักษ์ ทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้สามารถทำมาหากินในช่องทางที่เป็นมิตรกับช้างได้โดยสะดวก และนับเป็นความโชคดีของคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้าที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจอย่างมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ควบคู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสาน อัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค โดยได้ทรงออกแบบลายมัดหมี่พระราชทานช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternal Love และทรงนำเอาลายเก่า ๆ มาออกแบบโดยนำแนวความคิดใหม่ ๆ และไม่ทิ้งอัตลักษณ์เก่า ประยุกต์ต่อยอดพัฒนาเป็น “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” จึงขอเชิญชวนนายกเทศมนตรี รวมถึงผู้บริหารเทศบาลร่วมกันสนองพระราชดำริ ด้วยการแต่งกายทั้งในการทำงาน การประชุม รวมถึงชีวิตประจำวันด้วยผ้าไทย “โดยผู้นำต้องทำก่อน” ซึ่งจะส่งผลให้มีการส่งเสริมการขาย ส่งเสริมให้มีการสวมใส่ผ้าไทย อันจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนในพื้นที่

จากนั้น นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนซักถามแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานของเทศบาลในการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีพระราชประสงค์จำนงหมายเหมือนกันทุกพระองค์ คือ “การส่งเสริมการพัฒนาคน” ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังเป้าหมายของพวกเราทุกคน ที่ล้วนมุ่งหวังให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ไม่มีอะไรทำถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราต้องช่วยกันในการแก้ไขในสิ่งผิด และสิ่งที่ย้ำเตือนพวกเราอยู่เสมอ คือ สิ่งที่จะทำให้คนกับสังคมกับสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข คือ มีความสมดุล อันจะทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทำให้คนสมถะหรือมักน้อย แต่ความพอเพียงอยู่ภายใต้หลักการของเหตุและผล รู้จักเหตุ รู้จักพอประมาณ มีความรู้คู่คุณธรรม นั่นเอง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น