เล่าจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า “หนทางไกล นับหมื่นลี้ ต้องเริ่มต้นด้วย…‘ก้าวแรก’” การเดินทางทุกรูปแบบ มีจุดเริ่มต้น ทว่าก่อนเริ่ม ก็น่าจะมีการตัดสินใจเสียก่อน ตัดสินใจว่าจะออกจาก “จุดเดิม” ไปยัง “จุดอื่น” ได้อย่างไร ด้วยวิธีใด
ผู้คนส่วนใหญ่หวังว่า จะถึง “จุดอื่น” ให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และมีน้อยคนที่เลือกดื่มด่ำกับช่วงระหว่าง “จุดเดิม” กับ “จุดอื่น” หากทำได้ กำไรจากการเดินทางย่อมเพิ่มขึ้น จากเพียงถึงจุดหมายให้เร็วเท่านั้น
กำไรที่ว่าอาจกลายเป็น จุดหมาย หรือ “จุดหนึ่ง” ที่เพิ่มขึ้น เพราะความสวยงาม ความตื่นเต้น ความแปลกตา ฯลฯ และก่อให้เกิดมิตรภาพระหว่างผู้เดินทางด้วยกัน โดยมิได้คาดหมาย
เรื่องราวการเดินทาง “ริมถนน คนอลเวง” โดยหมอรัชฎ์ ที่ได้เริ่มเดินทางโดยมิได้ตั้งใจ และมีจุดหมายที่ไม่ชัดเจนนัก ทว่าระหว่างทาง หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้คลี่คลายปมในใจตนเองในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องก็อาจตรงกับที่ผู้อ่านที่ประสบอยู่ก็เป็นไปได้
“ริมถนน คนอลเวง” มิได้กล่าวถึงการเดินทางทางกายภาพเท่านั้น ลึก ๆ แล้ว ตัวละครยังใช้การเดินทางเข้าไปค้นจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ที่ตนอาจหลงลืมไปนานแล้ว
ผลงานเขียนโดย วิชญ์ คำทู เภสัชกรโรงพยาบาลผู้หลงใหลในงานเขียน เริ่มเขียนเรื่องสั้น ในปี ๒๕๕๕ ส่งไปตามนิตยสารต่าง ๆ แต่ก็ไร้วี่แววของการตีพิมพ์ จวบจน ปี ๒๕๕๖ เรื่องสั้น “ความฝันของแม่” ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย คัดเลือกโดย บัวแพน นันทพิสัย เป็นกำลังใจให้เขียนงานเพิ่มขึ้น
นวนิยาย ริมถนนอลเวง เป็นนวนิยายที่เข้ารอบ ๑๐ เรื่องสุดท้าย ในโครงการ “เที่ยว เขียน ไทย” ของนิตยสารสกุลไทย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก่อนจะนำมาปรับปรุงเป็น “ริมถนน คนอลเวง” ฉบับสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น