"ธนกร"ส่วน “เพื่อไทย” อย่าขู่ รัฐบาลโวพร้อมแจงในสภาฯ ย้ำไทยยกระดับป้องกัน ASF เป็นวาระแห่งชาติปี 62 !! - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565

"ธนกร"ส่วน “เพื่อไทย” อย่าขู่ รัฐบาลโวพร้อมแจงในสภาฯ ย้ำไทยยกระดับป้องกัน ASF เป็นวาระแห่งชาติปี 62 !!


โฆษกรัฐบาลสวน “เพื่อไทย” อย่าขู่ รัฐบาลพร้อมชี้แจงในสภาฯ ย้ำไทยยกระดับป้องกัน ASF เป็นวาระแห่งชาติปี 62 สามารถชะลอผลกระทบโรคระบาดในสัตว์ หากปกปิดข้อมูลหรือไม่ดำเนินการเลย เชื่อว่าผู้บริโภคและอุตสาหกรรมหมูของไทยจะได้รับผลกระทบเสียหายมากกว่านี้

วันที่ 13 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรและปัญหาราคาสุกรแพงว่า รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีมาตรการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการระบาดของโรค ASF ในสุกรทันทีที่ได้รับรายงานครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศจีน เมื่อปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคในสัตว์ทันที และยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 5 ครั้งกว่า 1,547 ล้านบาท เพื่อระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรค AFS ในสุกร นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนภาครัฐและสถาบันการศึกษา ที่จะร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งหากสำเร็จไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกในการผลิตวัคซีนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาด้วย

นายธนกร กล่าวอีกว่า คณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกร จัดทำแผนควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Contingency Plan)และแนวเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical Practice Guideline) มีการจัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนมาตรการ เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย และซ้อมแผนรับมือโรคฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมนำข้อมูลการระบาดที่ประเทศจีนและเวียดนามมาทำแผนที่ความเสี่ยงด้วยวิธีการ Spatial Multi-Criteria Decision Analysis (S-MCDA) เพื่อใช้ระบุพื้นที่เสี่ยงในการดำเนินการเฝ้าระวังทางอาการทางคลินิก รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชัน อี-สมาร์ทพลัส พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน ขณะเดียวกัน ก็สร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ทราบว่าโรค ASF ในสุกรเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ทำให้มีอัตราการตายสูง แต่ไม่ติดต่อสู่คน เนื้อสุกรสามารถบริโภคได้ ทั้งนี้ ภาคเอกชนเข้าใจสถานการณ์ที่ไทยได้มีการเปิดเผย การพบโรค ASF ในไทยเป็นอย่างดี โดยรองประธานหอการค้าไทยมั่นใจว่า จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของสินค้าไทย รวมทั้งการซื้อ-ขาย ส่งออก หรือ การบริโภคเนื้อหมู เพราะทราบดีว่าสามารถพบและมีโอกาสในการเกิดโรคระบาดในสัตว์  ซึ่งประเทศไทยเองยังมีพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์บังคับ พ.ศ. 2558 ที่มีการกำหนดมาตรการเยียวยาเกษตรกร การชดเชย รวมถึงวิธีปฏิบัติทำลายซากสัตว์ที่ชัดเจน

“นายกรัฐมนตรีใส่ใจตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาได้กำชับหน่วยงานเฝ้าระวังและควบคุมการลักลอบนำสัตว์ข้ามพรมแดน การเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพื้นที่ รวมทั้งการเยียวยาให้แก่เจ้าของฟาร์มรายย่อย จากมาตรการทำลายสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค ทำให้ไทยสามารถป้องกันความรุนแรงโรค ASF ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการระบาดของโรคไปแล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน และรักษาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหมู ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย ดังนั้น พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องออกมาขู่ หากจะนำเรื่องเข้าหารือในสภาฯ ก็สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมชี้แจงในสภาฯ อยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องปกปิดข้อมูลใด ๆ แต่ต้องไม่ใช่ว่า ฝ่ายค้านสร้างความสับสนไว้ แต่พอได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากรัฐบาลแล้ว กลับไม่ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในข้อมูลผิด ๆ ที่ตัวเองพูดไว้ แบบนั้นถือว่าไม่รับผิดชอบการกระทำของตัวเอง” นายธนกร กล่าว 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น