ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 65 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ปริมาณฝนรวมประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติและคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 65 จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่ตก และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของจังหวัด กำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตลอดถึงแนวทางการระบาย และกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ตามแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และให้ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำ รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปริมาณฝนตกน้อยจนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ โดยประสานโครงการชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และสำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะพืชสวนที่เป็นไม้ยืนต้นและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวงในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด
“ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมและบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ทั้งหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ สอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำขึ้น และเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ร่วมซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ให้สร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ และมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือ สายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่งโมง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น