ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังประกาศเตือนภัยโควิดระดับ 4เน้นย้ำงดเข้าสถานที่เสี่ยง งดรวมกลุ่มเวลานาน และชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ที่พบการติดเชื้อสูงขึ้น ต้องยกการ์ดสูงมากขึ้น พร้อมแจงแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 8,640 ราย รักษาหาย 8,641 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 82,720 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 540 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 118 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ภาพรวมผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตอยู่ในระดับคงตัว ขณะที่ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงยังคงการแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ที่ระดับ 4 โดยขอให้งดการเข้าสถานที่เสี่ยง การรวมกลุ่มทำกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้น ต้องเข้มมาตรการต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมาจากการสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว
คนรู้จักกัน และทำงานรวมกลุ่มกันโดยไม่สวมหน้ากากเป็นเวลานาน ทำให้พบคลัสเตอร์ในหลายวงการ เช่น นักกีฬา บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น จึงขอให้ปฏิบัติตามมาตการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณการระบาดในโรงงาน สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ร้านอาหารที่ให้ดื่มสุราในร้าน และโรงเรียนเพิ่มขึ้น เน้นย้ำว่าหากพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการให้แยกแผนกทำงาน แยกพื้นที่ และใช้มาตรการ Bubble & Seal ขณะที่ทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากต่อเนื่อง จึงเน้นติดตามกำกับการเดินทางเข้าประเทศ ในรูปแบบ Test & Go และ Sandbox โดยเฉพาะ
สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1-20 มกราคม 2565 มีจำนวน 289 ราย พบว่า เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีถึง 159 ราย ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 58 ราย ช่วงอายุ 50-59 ปี จำนวน 33 ราย เนื่องจากคนอายุมาก หรือมีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการป่วยแล้วเสียชีวิตสูงกว่า กลุ่มนี้จึงต้องรับวัคซีนให้ครบถ้วน รวมทั้งเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมด้วย จึงขอให้ประชาชนมารับวัคซีนตามที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดส นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อส่วนใหญ่ก็เป็นสายพันธุ์โอมิครอนเช่นกัน แต่ทุกรายไม่มีอาการรุนแรง บ่งบอกว่าวัคซีนช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่จะต้องเร่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ตามช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อเพิ่มภุมิคุ้มกันให้มากขึ้น
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ศบค.ปรับลดเหลือกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็น 7 วัน และสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน โดยตรวจ ATK 2 ครั้งนั้น แนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง คือ ให้กักตัวที่บ้าน 7 วันโดยตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน และตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 5-6 หลังจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อให้โทร 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หากไม่ติดเชื้อ เมื่อครบกักตัว 7 วัน สามารถเดินทางนอกบ้านได้โดยให้สังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน แต่เน้นย้ำว่าให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องทำงาน ให้แยกพื้นที่กับผู้อื่น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด สวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ และเลี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น โดยให้ตรวจ ATKครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากไม่ติดเชื้อก็ถือว่าพ้นการกักตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น