กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ขานรับข้อสั่งการ รมว.สุชาติ เรื่องสอบเคส รปภ. ถูกนายจ้างทำร้าย เผยผลสอบข้อเท็จจริงกรณีลูกจ้าง รปภ. ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย ลูกจ้าง 3 ราย ได้รับค่าจ้างครบแล้ว ส่วนอีกรายต้องการยื่นคำร้อง คร.7 พร้อมนัดนายจ้างเข้าสอบข้อเท็จจริง 25 ม.ค. 65
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้าง รปภ. ทั้ง 4 นาย หลังถูกนายจ้างทุบตี ทำร้ายร่างกาย พร้อมกำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กสร.จึงขานรับข้อสั่งการส่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง โดยได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่านายอนันตชัย ปิยะธีรวัฒน์ ลูกจ้าง กับพวกรวม 4 คน ทำงานที่หน่วยงานซอยเพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ลูกจ้างลาออกจากงาน นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างลงชื่อยินยอมเป็นหนังสือให้หักค่าจ้างชดใช้ค่าอุปกรณ์ที่ลูกจ้างยืมไป ลูกจ้างจึงลงชื่อยินยอม พนักงานตรวจแรงงาน ได้ชี้แจงสิทธิ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ลูกจ้างทราบ และหากลูกจ้างประสงค์ใช้สิทธิสามารถยื่นคำร้องผ่าน e- services หรือยืนคำร้องด้วยตนเองที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 โดยนายอนันตชัย ปิยะธีรวัฒน์ นายมังกรทอง บุญศรี และนายวรวุฒิ นาคบัว ลูกจ้างทั้ง 3 คน แจ้งว่าได้รับค่าจ้างครบถ้วนแล้ว และขอเวลาตัดสินใจว่าจะยื่นคำร้อง (คร.7) เรื่องเงินประกันการทำงาน และค่าชดใช้อุปกรณ์ ต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ ส่วนอีก 1 ราย คือนายสนอง น้อยศรี จะเข้าไปยื่นคำร้อง (คร.7) ในวันที่ 24 ม.ค. 2565 พร้อมกันนี้พนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงบริษัท รักษาความปลอดภัย แรงเจอร์ อินเวสติเกชั่น จำกัด ประกอบกิจการบริการรักษาความปลอดภัย มีลูกจ้างประมาณ 1,000 คน ลูกจ้างรายวันขั้นต่ำวันละ 497 บาท บริษัท ให้ลูกจ้างปฏิบัติงานที่หมู่บ้าน เวิร์ฟ (Verve) เพชรเกษม 81 แขวง/เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ผู้ว่าจ้าง ไม่ต่อสัญญากับบริษัทฯ ทำให้ต้องยุบเลิกหน่วยงานดังกล่าว และให้ลูกจ้างไปปฏิบัติที่หน่วยงานอื่นแทน แต่ลูกจ้างขอลาออก นายจ้างแจ้งว่าได้จ่ายค่าจ้างครบแล้ว และได้ให้ลูกจ้างชดใช้ค่าอุปกรณ์ (วิทยุสื่อสาร) เนื่องจากลูกจ้างไม่คืนอุปกรณ์ดังกล่าว โดยนายจ้างแจ้งว่าลูกจ้างยินยอมชดใช้ค่าอุปกรณ์คนละ 3,123 บาท ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ตรงกับฝ่ายลูกจ้างรปภ. ซึ่งจะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงาน
ตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือเป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร. สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น