พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ พร้อมพระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ ในปีพ.ศ.2456 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ พร้อมพระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ ในปีพ.ศ.2456


“...การฝึกสอนเด็กนั้นจำจะต้องฝึกสอนหลายอย่าง ไม่ใช่แต่จะให้เรียนวิชาหนังสือมีความรู้ไป สำหรับเปนเสมียนแลเข้าทำราชการเท่านั้น... วิชาช่างต่างๆ นั้น ว่าโดยเฉภาะก็เปนทางที่จะหาเลี้ยงชีพได้ดีส่วนหนึ่งเหมือนกัน แลถ้าสำหรับประกอบกับวิชาอื่นๆ แล้ว ก็จะช่วยให้การฝึกสอนโดยทั่วไปนั้นสำเร็จดียิ่งขึ้น...”   

พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนพณิชยการขึ้นในปี พ.ศ. 2456 






ทั้งนี้ ในแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2456 นอกจากจะมีการจัดหลักสูตรวิชาสามัญเป็นหลักสูตรชั้นประถม มัธยมต้น มัธยมกลาง และมัธยมปลายแล้ว ในแผนการศึกษาฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการจัดให้มีหลักสูตรอาชีวศึกษาในระดับมัธยมต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องด้วยทรงมีพระราชดำริดังกล่าว กับอีกเหตุผลหนึ่งมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยจะถูกอิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายเข้าครอบงำ อาจถึงคราวเสื่อมสูญได้ จึงมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงศิลปะการช่างของไทยให้พัฒนาถาวรสืบไป 


รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนพณิชยการขึ้นในปี พ.ศ. 2456 กับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในปี พ.ศ. 2460 เพื่อให้เป็นทางเลือกของนักเรียนที่ประสงค์จะเล่าเรียนวิชาอาชีพ เพื่อไปประกอบวิชาชีพเลี้ยงตัวโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับราชการหรือทำงานเป็นเสมียน โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2456 พร้อมพระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ เจ้าอยู่หัว ดังนั้น ชาวเพาะช่างจึงถือเอาวันที่ 7 มกราคม เป็น วันกำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเป็นวันชุมนุมศิษย์เก่าของทุกๆ ปี 

และในปี พ.ศ. 2461 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการ ได้ทรงบริหารการศึกษาศิลปหัตถกรรมของโรงเรียนเพาะช่างให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ได้รับความนิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงเจ้านาย ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ตลอดชาวต่างประเทศ 

ทรงจัดตั้งแผนกช่างทอง แผนกเจียระไนเพชรพลอย แผนกทำบล็อกสกรีน โดยเฉพาะเครื่องถม ได้ขยายวิธีการไปอย่างกว้างขวางจนเป็นที่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบันคือ #ถมจุฑาธุช ทรงจัดให้มีพิธีไหว้ครูช่างแบบอย่างโบราณขึ้นในโรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2463 และทรงคิดสีประจำโรงเรียนคือ “สีแดง–สีดำ” โดย สีแดง หมายถึง เลือดของช่าง สีดำ หมายถึง ไม่ใช่ช่าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ช่างทั้งหลายได้มีเลือดเป็นสีแดงอยู่เสมอ อย่าให้สีแดงของช่างจางไปหรือกลายเป็นสีดำ 


นอกจากนี้ ยังทรงขยายแผนกการค้า ทรงสร้างห้องแสดงสินค้าห้องประชุมโรงเรียน จนกระทั่งนำผลกำไรจากการค้าของโรงเรียนไปสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย) 

ปัจจุบัน ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ ตั้งอยู่ที่ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และใช้ชื่อเต็มว่า “วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์” เป็นสถาบันศิลปะการช่างที่เปิดหลักสูตรการสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี ทั้งภาคปกติและภาคสบทบ มีทั้งหมด 4 กลุ่มวิชา คือ ศิลปประจำชาติ ศิลปหัตถกรรม วิจิตรศิลป์ และออกแบบ โดยสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 


ภาพ 3: วันเปิดโรงเรียนเพาะช่าง ณ พลับพลาที่ประทับชั่วคราวภาพ 4: ลายพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามโรงเรียน “เพาะช่าง”ภาพ 5: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่างพระองค์แรก ที่มา: วชิราวุธวิทยาลัย / วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ / School & College Listings / เฟซบุ๊ก ประวัติโรงเรียนเพาะช่าง#เรียนรู้ประวัติศาสตร์ทุกวันกับครูน้ำเพ็ชร#โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น