บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียน
สั่งให้เร่งแก้ไขฐานะการเงินภายในกำหนด คุมเข้มห้ามรับลูกค้ารายใหม่ ต้องจ่ายเคลมลูกค้ารายเดิมตามปกติ
โดย เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีการกระทำการอันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยประกาศปิดทำการ โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเข้าไปติดต่อ ณ ที่ทำการบริษัท แต่ไม่ได้รับการบริการใด ๆ จากบริษัท
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทให้เป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส อันจะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนในอนาคต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ บอร์ด คปภ. จึงมีคำสั่งให้บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
2. แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
3. ให้บริษัทเปิดทำการติดต่อกับประชาชนทุกวันตามประกาศ คปภ. ว่าด้วยการกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยเปิด ทำการติดต่อกับประชาชนฯ
4. จัดทำรายงานสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เช่น หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ชื่อผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจัดส่งรายงานให้สำนักงาน คปภ. ทุกวันทำการนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัย ให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย
5. เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
6. ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตาม ตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ทุกวันทำการ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ สำหรับการจ่ายเงินอื่น ให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด รวมถึงบริษัทต้องรายงานเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบถึงบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหมด ของบริษัทภายในระยะเวลานายทะเบียนกำหนด
นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียน ได้อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม หรือนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าหากรอให้ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดข้างต้นอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยดำเนินการตามมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ต่อไป
“การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนได้เต็มที่ และตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินของบริษัท ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทได้ทั้งหมด และจัดการเคลียร์ปัญหาการจ่าย ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัท ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย
พร้อมทั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทอย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หากพบว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น