เมื่อวันที่ 8 พย. 64 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการรับฟังการแถลงผลงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2565 โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังผลงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติ กพต. ระยะที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการมีความคืบหน้าและดีขึ้นโดยลำดับ ได้แก่ 1) การช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ตามแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 3) การพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย - มาเลเซีย (9 ด่าน) เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่าง ๆ อาทิ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา ด่านศุลกากรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลกและด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นต้น และ
4) การขับเคลื่อนสภาสันติสุขตำบล จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชนและตำบล จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน หมู่บ้านและตำบลตามโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผ่านกลไก “สภาสันติสุขตำบล” เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามปัญหาความจำเป็นและความต้องการของประชาชน รวมทั้งโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2565 ประกอบด้วย 1) กรอบการบูรณาการขับเคลื่อนขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้แนวคิดจัดข้าราชการรับผิดชอบครัวเรือนยากจน 2) โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) โครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จังหวัดยะลา “Amazean Jungle Trail” และ 4) ดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม – กันยายน) ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งทำให้ทราบความเดือดร้อน ความต้องการ และความเร่งด่วนของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยภาพรวมในไตรมาส 3 ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.87 เป็นผลจากความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นด้านสังคมที่ปรับตัวดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีขอบคุณ กพต. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบัน ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน รวมทั้งการแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดีขึ้น ตลอดจนการวางรากฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงทุกมิติไปพร้อมกันซึ่งทำให้การพัฒนามุ่งเป้าหมายไปยังประชาชนและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีความสุขและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน พร้อมแสดงความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งขณะนี้ดีขึ้นโดยลำดับ สถานการณ์ความรุนแรงลด ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายและประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยย้ำความห่วงใยถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนระมัดระวังดูแลป้องกันตนเองให้ปลอดภัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่และดูแลประชาชน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังชื่นชมความสำเร็จและผลงานสำคัญของ กพต. ที่ทำเพื่อประโยชน์และความสุขให้แก่ประชาชน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหากฎระเบียบทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ไม่ทันสมัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีงานพัฒนาที่จำเป็นซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาต่อไป เช่น การประสานและบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมสร้างสันติสุขอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ รู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนงาน/โครงการ แผนคน และแผนงบประมาณ ให้ประสานสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้การขับเคลื่อนการทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ต้องดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่การทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างงานและอาชีพให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยอุตสาหกรรมต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อลดโลกร้อนตามนโยบายของรัฐบาลและนานชาติในขณะนี้
นายกรัฐมตรียังให้ข้อเสนอแนะโดยย้ำทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการระบบการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุนและการบริการในพื้นที่ ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยให้ ศอ.บต. เป็นศูนย์กลางการประสานงานและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน รวมทั้งให้ กพต. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการตามนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้ง 4 เมือง ให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วและเชื่อมโยงไปยังเกษตรฐานรากของประชาชนให้ได้มากที่สุดโดยโครงการการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ผ่านจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “เมืองปศุสัตว์”, “เมืองปูทะเลโลก”, “เมืองแห่งผลไม้” “เมืองแห่งพืชพลังงาน” และ “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้สำเร็จได้ในปี 2565 นี้ และให้ ศอ.บต. ร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนและของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีความกินดี อยู่ดี อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องดำเนินการให้ดีที่สุด รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดกีฬาระดับโลก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากโลกอาหรับและผู้นับถือศาสนาอิสลามจากประเทศต่าง ๆ เพื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรียังย้ำการจัดสรรทรัพยากรที่ดินทำกินให้กับประชาชน ต้องบูรณาการงานทั้งการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ให้คนอยู่ร่วมกับป่า ผ่านกลไก คทช. โดย กพต. ต้องเข้าไปเร่งรัดติดตามการทำงานในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้เร่งรัดการดำเนินโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งพื้นที่สาธารณะ” ให้เกิดขึ้นครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว เพื่อจะได้เป็นต้นแบบการทำงานให้กับทุกส่วนราชการเพื่อนำทรัพยากรของรัฐไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างสูงสุด และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมตลอดจนการบูรณาการขับเคลื่อนขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แนวคิด “1 ข้าราชการ รับผิดชอบ 1 ครัวเรือนยากจน” โดยกำชับข้าราชการทุกคนต้องทำงานเพื่อประชาชนให้ได้ และให้จังหวัดได้ร่วมกันนำแนวคิดนี้ไปขยายผลสู่การปฏิบัติโดยเร็ว หากติดขัดปัญหาใด ให้เสนอผ่าน กพต. และ ครม. ตามลำดับ
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นถึงความสำเร็จในแก้ไขปัญหาทั้ง 5 มิติ ทั้งความยากจน การศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยเน้นทำให้ครบทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน จะทำให้ได้ใจ จัดระบบสวัสดิการตามสิทธิทางกฎหมายให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว ระยะที่ 2 ได้ภาคีพวกพ้อง สามารถบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง เกิดระบบการส่งต่อซึ่งกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ และระยะที่ 3 ได้นโยบายและหลักการทำงานเฉพาะพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้กิดการผลักดันนโยบายจากส่วนกลางที่ไม่เหมาะสมไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด ตรงตามความต้องการ และความจำเป็นของประชาชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงและงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้นต่อเนื่องและอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องสูงขึ้นในทุกด้าน ตลอดจนการส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่ต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของพี่น้องประชาชน และเชื่อมโยงการพัฒนาทุกห่วงโซ่คุณค่าให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น