อีกหนึ่งเวทีของคนมีฝัน กว่า 8 ปี ของ CSTD Thailand Dance Grand Prix การแข่งขันศิลปะการเต้นระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่ได้รับรางวัลเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันศิลปะการเต้นนานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CSTD Asia Pacific Dance Competition) ซึ่งมีประเทศสมาชิกมากกว่า 14 ประเทศ เพื่อพัฒนาวงการศิลปะการเต้นในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมยกระดับและมาตรฐานของวงการเต้นให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก
นอกจากการแข่งขัน อีกมุมหนึ่ง CSTD Thailand Dance Grand Prix ยังเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับนักเต้นมือสมัครเล่น ไปจนถึงระดับมืออาชีพทั่วประเทศให้ได้มาแสดงศักยภาพ พร้อมเติมเต็มทุกความฝันและสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะเวทีนี้ไม่มี “ผู้แพ้” แต่ทุกคนที่ได้มาร่วมแสดงนั้น อย่างน้อยก็ได้ “ชนะใจตัวเอง” ในการลุกขึ้นมาสานความฝันให้เป็นจริง ได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้านศิลปะการเต้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเวทีแห่งนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดัน ให้ทุกคนที่รักศิลปะการเต้น “กล้า” ที่จะปลดปล่อยพรสวรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวเอง พร้อมก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จบนเวทีโลก รวมถึงยังได้สะสมประสบการณ์ด้านการเต้น ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน และยังสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวทีการแข่งขันแห่งนี้ ต่อยอดไปสู่การเป็น “นักเต้นมืออาชีพแถวหน้า” ได้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นเวทีแห่งนี้ยังเป็นเหมือนแรงจูงใจให้เยาวชนไทย สร้างทัศคติที่ดี พัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม รวมถึงสนใจในด้านศิลปวัฒนธรรม จนก่อเกิดเป็นความรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 แต่ก็ไม่สามารถหยุดแพชชั่นความฝันของเหล่าเยาวชนได้ เพราะในปีนี้การแข่งขันประเภทเดี่ยว “CSTD Thailand Dance Grand Prix Part 1 - Solos & Championships” มีผู้เข้าแข่งขันถึง 38 สถาบันจากทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยมีเยาวชนเข้าแข่งขันทั้งหมด 520 ระบำ มาพร้อมรูปแบบในการเต้นที่หลากหลายกว่า 11 สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น Children Freestyle, Novelty, Classical Ballet, Lyrical, Demi Character, Modern Jazz, Contemporary, National, Tap, Repertoire, Improvisation, Song & Dance, Hip Hop, Betty Tilley Perpetual Trophy Dance Challenge และ Championship เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนต่างงัดเสน่ห์ ความสามารถรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการดีไซน์การเต้นที่เปี่ยมล้นด้วยพลัง ออกมาโชว์ชนิดที่กินกันไม่ลง นอกจากลีลาการเต้นแล้ว เหล่าผู้เข้าแข่งขันยังครีเอทคอสตูมที่งดงาม สร้างสรรค์ และโดดเด่น เรียกว่าเป็นพื้นที่ให้เหล่าเยาวชนได้มาปล่อยของเต็มที่
นางสาวฐิตาภา เติมเจริญผล หรือ น้องแซนด์ทราย อายุ 21 ปี ผู้คว้ารางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภท คะแนนรวมบุคคลสูงสุด จากคะแนนรวมประเภทเดี่ยว และ Championship ด้วยคะแนน 30 Points 798 Marks ได้เล่าผ่านมุมมองของผู้ชนะว่า “แซนด์รู้สึกว่าการได้รางวัลในครั้งนี้เป็นรางวัลของคุณครูที่ฝึกสอนเรามา และเป็นความภูมิใจของพ่อแม่ แต่รางวัลที่เราได้จริงๆ คือประสบการณ์ในการทำโชว์ การที่เราได้ไปอยู่บนเวทีแล้วมีคนดู ได้เห็นพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เป็นแรงบันดาลในการเต้นของเรา สำหรับรูปแบบการแข่งขันปีนี้ที่เปลี่ยนเป็นรูปแบบ New Normal ค่อนข้างเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่เหมือนกัน เป็นความรู้สึกแตกต่างจากการแข่งขันปีก่อนๆ ที่ผ่านมา เพราะถ้าเราได้เห็นเพื่อนๆ โชว์บนเวทีก่อน ก็จะคิดว่าต้องปรับแก้โชว์ของเรายังไงบ้าง แต่ครั้งนี้เรารู้สึกว่า ‘ไม่ได้มาแข่งกับคนอื่น แต่แข่งกับตัวเอง’ และเราได้ดูโชว์ของคนอื่น ๆ เยอะขึ้น เพราะปกติบางคนอาจจะเยอะมาก จนไม่ได้นั่งดูเพื่อนข้างนอกเลย ที่ผ่านมาแซนด์ก็เคยลงแข่งแล้วไม่ได้รางวัลเหมือนกัน แต่คิดว่าเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันที่มี แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้นำมาปรับใช้ในอนาคตได้ เพราะการเต้นให้ประโยชน์กับเรามากๆ ทั้งในเรื่องของความมั่นใจ บุคลิกภาพ ไหวพริบและการแก้ปัญหาต่างๆ และยังได้เจอเพื่อนๆ กลุ่มใหม่อีกด้วย ตอนนี้แซนด์กำลังเรียนด้าน คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานาฎยศิลป์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย เลยรู้สึกว่าการเต้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราไปแล้ว เราอยากหาประสบการณ์และทักษะไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เวทีแข่ง แต่เป็นการเต้นในระดับมืออาชีพ และถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ต่อไปค่ะ”
อีกหนึ่งสาวน้อยคนเก่ง ด.ญบุณชญา เนียดวง หรือ น้องน้ำอบ อายุ 11 ปี ซึ่งคว้ารางวัลจากการแข่งขันในปีนี้ถึง 6 ประเภท ได้เปิดใจว่า “การแข่งขันในปีนี้หนูลงแข่งทั้งหมด 6 ประเภท ได้ที่หนึ่ง 2 ระบำ รางวัลรองชนะเลิศ 2 ระบำ และรางวัลชมเชยอีก 2 ระบำ หนูเริ่มเรียนบัลเลต์มาตั้งแต่ 3 ขวบ จนตอนนี้อายุ 11 ขวบแล้วค่ะ ก็ลงแข่งมาตลอดเลย ก่อนแข่งแต่ละครั้งต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก และต้องพยายามมากๆ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หนูเคยลงแข่ง 3 ระบำ แต่ได้แค่รางวัลชมเชย 1 รางวัล ปีนั้นรู้สึกเสียใจมาก เราไม่ได้เสียใจที่ไม่ได้รางวัล แต่เสียใจที่อยู่บนเวทีแล้วเราทำไม่เต็มที่ เพราะบนเวทีเรารู้สึกไม่สนุก รู้สึกไม่ชอบเลย ทั้งๆ ที่ตอนซ้อมเราทำได้ดีกว่านี้ เลยทำให้เราเรียนรู้ว่า ทุกครั้งที่เต้น เราต้องสนุก มีความสุข และเต็มที่ทุกครั้ง ถึงจะออกมาได้ดี ส่วนในอนาคตหนูอยากจะเป็นคุณครูสอนบัลเลต์ให้เด็กๆ ทุกคนเลยค่ะ”
มาถึง นางสาววริศรา เเสงศรีเพ็ญ หรือ น้องเดียร์ อายุ 15 ปี ได้เล่าถึงความฝันที่อยากจะเป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับนานาชาติให้ฟังว่า “ปีนี้ลงแข่งประเภท Modern Jazz และ Hip Hop ค่ะ เราชอบการเต้นที่มีความแข็งแรง มีไอดอลเป็นนักเต้นของเกาหลี ก่อนแข่งก็เตรียมตัวค่อนข้างเยอะค่ะ เดียร์ฝึกซ้อมทุกวัน และมองว่าการเต้นช่วยในเรื่องของบุคลิกภาพเพราะเมื่อก่อนเราหลังค่อม และค่อนข้างเป็นคนขี้อาย พอได้มาเรียนเต้นก็ทำให้เรามีความตั้งใจในตัวเองมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมาเดียร์เคยเป็นตัวแทนไปแข่งขันศิลปะการเต้นนานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกแบบกลุ่มด้วย เลยอยากไปประเภทเดี่ยวบ้าง ก็อยากจะบอกทุกคนที่แข่งขันแล้วอาจจะไม่ชนะว่า ขอให้สู้ๆ ถ้าเราพยายามขึ้นอีกนิดหนึ่ง วันนั้นย่อมมาถึงแน่ๆ ค่ะ ในอนาคตถ้าไม่ติดอะไรก็จะใช้การเต้นเป็นงานเสริม และเป็นอีกหนึ่งทักษะติดตัวเราไปค่ะ”
ปิดท้ายด้วย ด.ญ.กิตตินัดดา อยู่โพธิ หรือ น้องณดา อายุ 13 ปี สาวน้อยผู้ไม่ยอมแพ้ได้เล่าว่า “ตอนเด็กๆ หนูเคยดูการ์ตูนบาร์บี้ รู้สึกว่าอยากใส่ชุดสวยๆ เต้นเหมือนในการ์ตูน คุณแม่เลยพาไปเรียนตั้งแต่ 4 ขวบ และเรียนต่อมาเรื่อยๆ สำหรับ ปีนี้ลงแข่งทั้งหมด 6 ระบำค่ะ ก่อนการแข่งขัน ก็ต้องฝึกซ้อมเยอะๆ และทบทวนท่าบ่อยๆ ออกกำลังกายและทำร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งการแข่งขันก็ทำให้มีความรับผิดชอบ รู้แพ้ รู้ชนะ ความพยายาม และความตั้งใจและเป้าหมายในการฝึกซ้อม ซึ่งหนูมีเป้าหมายว่าอยากเต้นให้ดีกว่าเดิม อยากเตะขาให้สูงขึ้น ทำตัวเองให้แข็งแรงมากขึ้น เส้นทางการเต้นในอนาคตหนูยังไม่แน่ใจว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ทุกวันนี้หนูยังมีความสุขกับการเต้น ก็อยากจะต่อยอดไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ปีนี้จะไม่ได้รางวัล เราก็บอกกับตัวเองให้สู้ๆ และทำปีหน้าให้ดีกว่าเดิม หนูก็อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคน เพราะหนูเองก็ไม่ใช่คนที่มีรูปร่างสวย แต่เชื่อว่าถ้าเรามีความพยายามทุกคนก็สามารถทำได้ค่ะ”
เตรียมปักหมุดร่วมให้กำลังใจเหล่าเยาวชนนักเต้นผู้มีฝันกันต่อ กับการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix Part 2 – ประเภทคู่ หรือ 3 คน (Duo/Trio), ประเภทกลุ่มขนาดเล็ก (Ensemble) 4-6 คน และกลุ่มใหญ่ (Troupe) 7-30 คน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะจัดขึ้นอีกครั้ง เร็วๆ นี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/cstdthailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น