คปภ. สั่งบริษัทจ่ายเคลมกรณี "น้องหญิง" นิสิต.ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถเบนซ์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ ที่บุรีรัมย์ พร้อมดำเนินคดีข้อหาประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

คปภ. สั่งบริษัทจ่ายเคลมกรณี "น้องหญิง" นิสิต.ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถเบนซ์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ ที่บุรีรัมย์ พร้อมดำเนินคดีข้อหาประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน


ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 พ่อแม่ของน้องหญิงผู้เสียชีวิตขับขี่รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน กับรถเบนซ์ของคู่กรณี ได้ร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยรถเบนซ์ของคู่กรณี ทั้งที่มีคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 โดยมีคำพิพากษาให้ผู้ขับขี่รถเบนซ์เป็นผู้ประมาทแต่ฝ่ายเดียว และตามความเห็นของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนนทบุรี ให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 500,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) จำนวน 2 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.5 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ถนนสายบุรีรัมย์-สุรินทร์ ตำบลสองชั้น อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น โดยได้สั่งการ ให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดนนทบุรี ในฐานะผู้รับเรื่องร้องเรียน และสำนักงาน คปภ. จังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ เร่งประสานให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งติดตามและรายงานความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด


เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจในกรณีดังกล่าว เมื่อผู้ร้องได้ยื่นเรื่องร้องเรียน สำนักงาน คปภ. จังหวัดนนทบุรี ก็ได้เร่งดำเนินการและแจ้งความเห็นให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตตามกรมธรรม์ประกันภัย ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแล้ว แต่บริษัทแจ้งใช้สิทธิโต้แย้งความเห็นว่า กรณีพิพาทน่าจะประมาทร่วมทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง และสายคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ได้รับเรื่องเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของทายาทของผู้เสียชีวิต จึงได้เรียกบริษัทชี้แจ้งข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 พร้อมให้ส่งเอกสารหลักฐานภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยบริษัทแจ้งว่าได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวต่อสำนักงาน คปภ. จังหวัดนนทบุรี และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 สำนักงาน คปภ. จังหวัดนนทบุรี ได้รายงานความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ว่าได้ประสานไปยังบริษัทเพื่อให้พิจารณาทบทวนจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร่งด่วนอีกครั้งแล้ว บริษัทยังไม่แจ้งผลการพิจารณากลับมา

เมื่อบริษัทยังคงโต้แย้งว่า รถยนต์คันเอาประกันภัยมิได้ประมาท ซึ่งขัดแย้งกับผลของคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้วข้างต้น หรือปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย หากบริษัทยังปฏิเสธไม่จ่ายเคลมดังกล่าวการกระทำของบริษัทเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท จนกว่าบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเสร็จ โดยสำนักงาน คปภ. จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และนำเรื่องเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว

"ผมขอแสดงความห่วงใยและเสียใจกับครอบครัวของน้องหญิงที่ประสบภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง สำนักงาน คปภ. พร้อมจะเข้าไปประสานให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง เห็นใจในขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยสำนักงาน คปภ. จะใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้ระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น