บราเดอร์ เห็นสัญญาณบวกหลังเปิดประเทศ กำลังซื้อเริ่มคึกคักพร้อมลุยโค้งสุดท้ายปี 64 เต็มพิกัด หวังเพิ่มยอดกลุ่ม non-print โฟกัสกลุ่ม consumable - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

บราเดอร์ เห็นสัญญาณบวกหลังเปิดประเทศ กำลังซื้อเริ่มคึกคักพร้อมลุยโค้งสุดท้ายปี 64 เต็มพิกัด หวังเพิ่มยอดกลุ่ม non-print โฟกัสกลุ่ม consumable


บราเดอร์ เห็นสัญญาณบวกหลังเปิดประเทศ กำลังซื้อเริ่มคึกคักพร้อมลุยโค้งสุดท้ายปี 64 เต็มพิกัด หวังเพิ่มยอดกลุ่ม non-printโฟกัสกลุ่ม consumable หลังโควิดบูมกระแสช้อปออนไลน์ ผู้บริโภคโอด ได้ของไม่ตรงปก! เพราะซื้อของปลอมหรือเทียบเท่า เดินหน้าสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ‘ทำไมต้องใช้ของแท้’
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา บราเดอร์ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% และคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากที่ไทยเริ่มดำเนินการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินเกิดการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการกลับมาของกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศซึ่งส่งผลดีให้แก่ธุรกิจไอทีด้วยเช่นกัน เพราะกำลังซื้อมีความมั่นใจและกล้าที่จะจับจ่ายยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน บราเดอร์มีฐานลูกค้าหลักรวม 3 กลุ่ม โดย 50% เป็นกลุ่มธุรกิจ SME, 30% เป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร (Corporate) และ 20% เป็นกลุ่มลูกค้าครัวเรือน (Home use) โดยช่วง COVID-19 บราเดอร์สามารถสร้างความแข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปสู่การทำงานแบบ work from home และการเรียนผ่านระบบออนไลน์ "สำหรับกลุ่มธุรกิจไอที ปัจจุบันพบว่าความต้องการในตลาดยังมีสูงกว่าซัพพลายอยู่พอสมควร เนื่องจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตซึ่งส่งผลโดยรวมต่อทั้งอุตสาหกรรมไอทีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าตลาดจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพได้เร็วสุดประมาณกลางถึงปลายปี 2565" นายธีรวุธ กล่าวเสริม

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บราเดอร์ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด หันมาเพิ่มยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ non-print ทั้งเครื่องพิมพ์ผ้า เครื่องพิมพ์ฉลาก จักรเย็บผ้า ฯลฯ และที่ถือเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ต้องการมุ่งเน้นคือการเพิ่มยอดขายในกลุ่มวัสดุการพิมพ์ (Consumable) "โควิด-19 คือปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปี 2564 จะมีมูลค่าประมาณ 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563 และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ บราเดอร์ที่พบว่าผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าของบราเดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ช่องทางออนไลน์ก็มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคหากเลือกซื้อกับร้านค้าที่จำหน่ายของปลอมหรือเทียบเท่าซึ่งเมื่อนำมาใช้จะส่งผลต่อเงื่อนไขการรับประกันทันที 

ผู้บริโภคบางคนไม่ทราบมาก่อนจนนำเครื่องมารับบริการที่ศูนย์บริการจึงได้ทราบ ดังนั้นปัญหาซื้อของไม่ตรงปกจึงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุดังกล่าวบราเดอร์จึงตั้งเป้าที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัสดุการพิมพ์แท้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและเห็นถึงคุณภาพที่แตกต่างรวมทั้งผลเสียที่เกิดขึ้นหากเลือกใช้สินค้าเทียบเท่าหรือสินค้าปลอม และไม่ส่งผลเสียต่อการรับประกันเพราะผู้บริโภคจะเสียประโยชน์อันพึงได้ทันที” นายธีรวุธ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ บราเดอร์ ได้ผนึกพลังพันธมิตรร้านค้าช่องทางจำหน่ายทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้หมึกแท้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และจะเดินหน้าต่อเนื่องสู่อนาคตเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าคุณภาพจากบราเดอร์อันนำไปสู่ความพึงพอใจสูงสุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น