นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งกับประเทศเพื่อนบ้านว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม โดยมีการเห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านต่างๆ อาทิ 1) ด้านการเมืองและความมั่นคง 2)ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 3)ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน 4) ด้านสังคม วัฒนธรรม และประชาชน
สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ไทย เป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในบรรดาสมาชิกอาเซียน และเป็นผู้ลงทุนลำดับที่ 9 ในเวียดนาม ส่วนเวียดนามเป็นคู่ค้าลำดับที่3 ของไทยในบรรดาสมาชิกอาเซียน และเป็นผู้ลงทุนที่กำลังเติบโตรายใหม่ในไทย ความร่วมมือจะประกอบด้วยการดำเนินงาน เช่น
1) การริเริ่มใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนที่ครอบคลุมและยังยืนระหว่างกัน เช่นการเปิดตัวระบบการชำระเงินค้าปลีกด้วยรหัสคิวอาร์โค้ด โดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางเวียดนาม เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าดิจิตอลข้ามแดน และการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ระหว่างสองประเทศ
2) ร่วมกันหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายทางการค้าทวิภาคีที่มีมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องร่วมกัน
3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิตอลให้มากขึ้นในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ การชำระเงินข้ามแดน การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการเงิน (fintech) และนวัตกรรมซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและบูรณาการทางการเงินระหว่างสองประเทศและในภูมิภาค
4) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการจัดการนโยบายและกฎระเบียบด้านการนำเข้าและส่งออกระหว่างสองประเทศ รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของสินค้าจากทั้งสองฝ่าย
5) ส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะด้านการขนส่ง การค้า การเกษตร และศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งและการส่งออกสินค้าระหว่างสอง
6) ขยายความร่วมมือสอดรับกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ของไทย กับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของเวียดนาม
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยและเวียดนามมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งใน 3 ด้าน คือ 1) การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพอย่างยั่งยืน 2) การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และ 3) การเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรการหรือแนวทางการทำงานเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น