ครบรอบ 20 ปี Write for Rights แคมเปญรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ครบรอบ 20 ปี Write for Rights แคมเปญรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

‘แอมเนสตี้’ เปิดตัว ‘Write for Rights’ - เขียน เปลี่ยน โลก แคมเปญรณรงค์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 20 และในปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ได้ส่งถึงผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ทั่วโลกให้ช่วยกันส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อรุ้ง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัวแคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” ซึ่งกลับมาอีกครั้งในปีที่ 20 ที่จะเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม


“จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 20 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ที่เราทุกคนมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 4.5 ล้านฉบับในปี 2563 รวมทั้งทวีตและลายเซ็น ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”

โดยปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” จากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้เป็นครั้งแรกด้วย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้เน้นรณรงค์ช่วยเหลือสี่กรณี ดังต่อไปนี้


รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากประเทศไทย จากเด็กขี้อายและเงียบขรึมได้กลายมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบโดยเธอได้ออกมาคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) ที่ถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 รุ้งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 60 วัน ตามความผิดมาตรา 112 ซึ่งเธอได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 38 วัน จากนั้นเธอได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่ล่าสุดศาลไม่ได้ประกันตัวในคดี ม.112 กรณีใส่ครอปท็อปเดินห้าง ทำให้ต้องถูกคุมขังอีกครั้ง ทั้งนี้เธอยังต้องเผชิญกับข้อหาอีกมากมายและอาจจะถูกจำคุกตลอดชีวิตหากถูกตัดสินว่ามีความผิด




จาง จ่าน จากประเทศจีน เธอต้องถูกคุมขังเพียงเพราะรายงาน สถานการณ์โรคโควิด-19 เมื่อเมืองอู่ฮั่นถูกล็อกดาวน์ จาง จ่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักข่าวพลเมืองไม่กี่คนที่รายงานเกี่ยวกับวิกฤติของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะเปิดเผยความจริง จาง จ่าน อดีตทนายความจึงเดินทางไปยังเมืองที่เกิดวิกฤติดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เธอได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้คุมขังนักข่าวอิสระและได้ข่มขู่ครอบครัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต่อมาเธอกลับถูกควบคุมตัวและถูกตัดสินจำคุกสี่ปีเพื่อปิดปากเธอ


เว็นดี้ กาลาร์ซ่า จากประเทศเม็กซิโก เธอถูกยิงขณะชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เว็นดี้เข้าร่วมการเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมในคดีฆาตกรรมของอเล็กซิส ในขณะที่เดินขบวนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ปืน ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้เว็นดี้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว เว็นดี้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ต้องหาถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


กลุ่มสเฟียร์ จากประเทศยูเครน ที่ถูกทำร้ายเพียงเพราะพวกเขาออกมาปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิของผู้หญิง กลุ่มสเฟียร์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศยูเครน ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ แอนนา ชารีฮีนา และ วีร่า เชอร์นีกิน่า หน้าที่หลักของกลุ่มสเฟียร์คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในเมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศยูเครน ช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มสเฟียร์โดนโจมตีด้วยความรุนแรงหลายครั้งจากกลุ่มที่ต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแอนนาและวีร่าได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

“Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” นั้นเป็นวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของแอมเนสตี้ทั่วโลก โดยแบ่งการเขียนเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1. การเขียนเพื่อส่งไปกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ 2.การเขียนเพื่อส่งไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง

ความสำเร็จที่ผ่านมา...เสียงของคุณช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

ลำพังเสียงของคุณคนเดียวอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก แต่ Write for Rights พิสูจน์แล้วว่าเมื่อเสียงของคนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกัน รัฐบาล ประเทศต่างๆ จะไม่สามารถเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป ส่วนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเองก็จะมีความหวังในการต่อสู้มาก ขึ้นจนได้รับความยุติธรรมในที่สุด ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ ประเทศไทยมีส่วนในการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ฮาคีม อัล อาไรบี ผู้ลี้ภัยของออสเตรเลียและนักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกทางการไทยควบคุมตัวนานกว่า 2 เดือนตาม “หมายแดง” ของตำรวจสากล ที่รัฐบาลบาร์เรนร้องขอในคดีทำลายทรัพย์สินสถานีตำรวจช่วงอาหรับสปริง เมื่อได้รับการปล่อยตัวเขาเดินทางถึงออสเตรเลียในวันถัดมา หลังจากนั้นหนึ่งเดือนเขาก็ได้รับสัญชาติออสเตรเลีย

“ผมมีความสุขมากที่ได้สิทธิความเป็นพลเมืองออสเตรเลีย ผมรู้สึกปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครในโลกที่จะติดตามตัวผมอย่างที่บาห์เรนทำได้อีกแล้ว ตอนนี้ผมคือชาวออสเตรเลีย และอยู่ในประเทศที่ปลอดภัย”

มาเมาด์ อาบู ซิด หรือชอว์คาน ช่างภาพข่าวชาวอียิปต์ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 2562 หลังถูกจำคุกนานกว่า 5 ปีครึ่งด้วยข้อหาที่ถูกกุขึ้น เขาถูกจับในขณะกำลังทำข่าวการประท้วงเมื่อกองกำลังอียิปต์บุกเข้ามาสังหารผู้ชุมนุมราว 800 ถึง 1,000 คนอย่างเลือดเย็น ที่เรียกว่า “การสังหารหมู่ที่ราบา”

“ผมขอขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ทำให้ผม ผมรู้สึกโชคดีมากที่มีคนแบบพวกคุณอยู่บนโลกนี้ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีพวกคุณเป็นเสมือนเพื่อนของผม”

สามารถร่วมลงชื่อได้ที่นี่ https://www.aith.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น