นายเฉลิมพล เนียมสกุล แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงาน และเพื่อให้ธุรกิจภาคส่งออกเดินหน้าต่อไปได้ จึงได้สั่งการให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินโครงการ Factory Sandbox โดยใช้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่แรงงานและสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจากภาคการผลิตแก่นักลงทุนในสถานประกอบการภาคการผลิต ส่งออกขนาดใหญ่ในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ในภาคการผลิตส่งออก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านบาท สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงาน เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งสามารถรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตและส่งออกสำคัญได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง โดยระยะแรก มีเป้าหมายดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ในสถานประกอบการภาคการผลิต/ส่งออก ที่มีผู้ประกันตน 500 คน ขึ้นไป ภายใต้แนวคิด "ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล"
นายเฉลิมพล กล่าวถึงการดำเนินโครงการ Factory Sandbox ของจังหวัดสมุทรสาครว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา บริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องส่งออก ตั้งอยู่เลขที่ 19/8 หมู่ 6 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็น 1 ใน 30 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox มีพนักงานทั้งสิ้น 1,576 คน แรงงานไทย 317 คน แรงงานต่างด้าว คน 1,259 คน ได้มีการตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้แก่พนักงานด้วยวิธี RT-PCR 100% ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งและได้แยกตัวผู้ติดเชื้อไปเข้ารับการรักษาใน Hospitel เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลปิยเวช สมุทรสาคร เป็นผู้ดำเนินการตรวจและดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จากนั้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก ให้แก่พนักงานที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้วและมีผลเป็นลบ จำนวน 974 คน โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลปิยเวช สมุทรสาคร เป็นผู้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้พนักงาน โดยพนักงานที่มีผลตรวจเป็นลบจะต้องเข้ารับการตรวจ Self-ATK ตามแผนทุกๆ 7 วัน รวมจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก วันที่ 6 ต.ค.64 ครั้งที่สอง วันที่ 13 ต.ค.64 ครั้งที่สาม วันที่ 20 ต.ค.64 และ ครั้งที่สี่ วันที่ 27 ต.ค.64 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของโครงการ Factory Sandbox ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ให้ความสำคัญและพนักงานให้ความร่วมมือกับโครงการนี้เป็นอย่างมากและแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ต้น
ด้าน นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครมีสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มโรงงาน ตามโครงการ Factory Sandbox เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ในอนาคตอยากให้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการออกไปยังสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก และประเภทกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากภาคส่งออกเพื่อให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยละแวกใกล้เคียงกับโรงงานไม่ต้องหวั่นวิตกและสบายใจได้ว่า การตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล ตามโครงการ Factory Sandbox นี้หากพบผู้ติดเชื้อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครจะแยกตัวไปรักษา สอบสวนโรค เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อไปได้ทันที ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านคลายความกังวลและชุมชนมีความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2564 ปรากฏว่า ได้ตรวจคัดกรองโควิดในสถานประกอบการแล้ว 28 แห่ง ผู้ประกันตน 61,249 คน และฉีดวัคซีนในสถานประกอบการแล้ว 22 แห่ง ผู้ประกันตน 33,280 คน สำหรับจังหวัดสมุทรสาครเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของโครงการ “Factory Sandbox” มีสถานประกอบการเข้าร่วม 30 แห่ง มีผู้ประกันตนรวม 70,596 คน สำหรับผู้ที่ตรวจพบเชื้อจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาใน Hospitel ตามมาตรการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น