จ.ภูเก็ต, กรมการพัฒนาชุมชน และ เจ้าถิ่น Check in ภูเก็ต จัดโครงการยกระดับมาตรฐานบริการอาหารถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมชู 5 หมู่บ้านนำร่องสถานที่ท่องเที่ยวคุณภาพ เชื่อมโยงอาชีพของประชาชนเพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจยั่งยืน
ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ต, กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ เจ้าถิ่น Check in ภูเก็ต จัดงานแถลงข่าวโครงการ“ยกระดับมาตรฐานบริการอาหารถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก” โดยได้รับเกียรติจาก นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นางมุกดา หลิมนุกุล พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต, นายกฤษฎา ตันสกุล ที่ปรึกษานายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และสองสุดยอดเชฟผู้พิชิตเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เชพมอนด์ นายสุวิจักขณ์ กังแฮ และเชฟเอิร์ธ นายเอิร์ธ ศริตวรรธน์ มาร่วมงานแถลงข่าว อีกทั้งยังได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวอีกด้วย
โดยโครงการ “ยกระดับมาตรฐานบริการอาหารถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อีกทั้งยังเพื่อพัฒนาผู้นำ กลุ่มองค์กรเครือข่าย/ชุมชน ให้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาศักยภาพด้านการต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเพื่อการเชื่อมโยงหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว ที่มีความโดดเด่น เรื่องภูมิปัญญาในการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เด่นในกลุ่มงานเกษตร อาทิ “กุ้งมังกร,สับปะรดภูเก็ต” และสถานที่ท่องเที่ยวคุณภาพที่เชื่อมโยงกับอาชีพของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนที่เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ (กุ้งมังกร,ปลาช่อนทะเล) อาชีพทางการเกษตร (สับปะรด) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนสู่ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
และเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนดังที่กล่าวมา จังหวัดภูเก็ต จึงได้ร่วมกับผู้นำองค์กรเครือข่ายชุมชน ชุมชนท่องเที่ยวตามแนวทางประชารัฐ คัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเกาะมะพร้าว หมู่ที่ 6 ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต บ้านป่าหล่าย หมู่ที่ 3 ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต บ้านป่าครองชีพ หมู่ที่ 9 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง บ้านม่าหนิก หมู่ที่ 7 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง และ บ้านท่าฉัตรไชย หมู่ที่ 5 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง เพื่อมาเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการร่วมกิจกรรมในโครงการนี้ เพื่อนำร่องในการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อบรรลุความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานบริการอาหารถิ่นเพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อความยั่งยืนของชุมชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว เป็นการตอบโจทย์ ยุทธศาสตร์ชาติ ในการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้สูงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ไป อันประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญของแต่ละยุทธศาสตร์ จึงถือได้ว่า โครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามคติพจน์ประจำชาติ อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น