เมื่อวันที่26 ตค.64 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิกอาเซียน
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 39 นี้ที่ประชุมมีประเด็นหลักที่หยิบยกขึ้นหารือหลักๆ ได้แก่ พัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า ทุกประเทศต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ สมาชิกอาเซียนต้องรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อเอาชนะกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งโควิด-19 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายต่อภูมิรัฐศาสตร์ในโลกและในภูมิภาค อาเซียนจะต้องมีความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับภายนอกภูมิภาค และรักษาความสงบสุขในภูมิภาค เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอ 3 แนวทางโดยให้ดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่
1. อาเซียนควรเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกให้มากยิ่งขึ้น รักษาความเป็นเอกภาพ มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนข้อริเริ่มต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสและสร้างพลังของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก และเห็นว่าอาเซียนควรใช้โอกาสจากความเป็นหุ้นส่วนเหล่านี้ในการผลักดันวาระต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของอาเซียนและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคต่อไป
2. อาเซียนต้องร่วมกันส่งเสียงที่ชัดเจนและสอดคล้องกันเกี่ยวกับความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกต่าง ๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ โดยใช้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้มหาอำนาจมีปฏิสัมพันธ์กันในภูมิภาคของเราอย่างสร้างสรรค์ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
3. อาเซียนควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยอาจพิจารณาใช้แนวทางใหม่ ๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแสวงจุดร่วมในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา นายกฯ กล่าวว่าเป็นบททดสอบความสามารถของอาเซียนในการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อาเซียนควรมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาเพื่อความน่าเชื่อถือของอาเซียนในประชาคมระหว่างประเทศ โดยไทยต้องการที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาและพร้อมฉันทามติ 5 ข้อ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีความเห็นต่อเมียนมาว่า “ไทยเชื่อในภูมิปัญญาร่วมกันของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ ที่จะหาวิธีการเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ได้ร่วมกัน โดยคำนึงถึงความเป็นครอบครัวอาเซียนเดียวกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อการบรรลุถึงสันติภาพและความสมานฉันท์ รวมทั้งกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ผมเชื่อว่า ผู้นำอาเซียนทุกประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ซึ่งเป็นหลักการอันทรงคุณค่าในการทำงานร่วมกันของอาเซียนมาตลอด 54 ปีที่ผ่านมา และจะช่วยกันธำรงหลักการนี้ไว้ ด้วยการช่วยกันให้สมาชิกครอบครัวอาเซียนอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าครบถ้วนเหมือนดังที่เคยเป็น มิใช่เช่นในวันนี้”
ทั้งนี้ ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะมีบทบาทช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและบรรยากาศสำหรับการหารือที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ได้ การยุติความรุนแรง และการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีโดยการพูดคุยและหารือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ควรจะยังคงดำเนินต่อไปและกระจายไปสู่ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
นายกฯ หวังว่า ในฐานะสมาชิกครอบครัวอาเซียน เมียนมาจะไว้ใจในการช่วยเหลือให้เมียนมาบรรลุสันติภาพและความสมานฉันท์ รวมทั้งกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
ไทยยินดีกับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ของบรูไนฯ และพร้อมสนับสนุนกัมพูชาในการเป็นเจ้าภาพอาเซียนปีหน้า ทั้งนี้ บรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนจะออกแถลงการณ์ประธาน (Chairman’s Statement) สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 รวมกันในฉบับเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น