เมื่อวันที่ 27 ตค.64 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ มีผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
ที่ประชุมฯ ผู้นำจากประเทศต่างๆ มุ่งเน้นในเรื่องการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด – 19 ที่เป็นความท้าทายของโลกที่จะต้องร่วมกันรับมือกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต สังคม เศรษฐกิจ ในวงกว้าง การปรับตัวภายหลังโควิด – 19 ที่เศรษฐกิจจะต้องปรับตัวจากผลกระทบดังกล่าว ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไปโลกจะต้องร่วมกันฟื้นฟูแก้ปัญหาเพื่อความสงบสุขอย่างถาวร
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการที่ทุกประเทศกำลังเผชิญกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน โดยกุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่ทางออก คือ การเห็นอกเห็นใจ เข้าใจกัน และร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่ง EAS เป็นโอกาสสำคัญ ในฐานะเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างผู้นำ ที่ไทยเชื่อว่าจะมุ่งสานพลังจากศักยภาพ จุดแข็ง และความเป็นเลิศที่หลากหลาย เพื่อจัดการความท้าทาย อย่างไรก็ตาม EAS จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อสร้างชัยชนะที่ถาวร บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งวางรากฐานและกำหนดทิศทางไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม
จากความท้าทาย โควิด-19 ย้ำเตือนว่า ความมั่นคงด้านสาธารณสุข คือเป้าหมายพื้นฐานที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น การเข้าถึงและการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมและรวดเร็ว การวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงเป็นประเด็นความร่วมมือที่ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ขณะเดียวกัน สุขภาพจิตของประชาชนทุกกลุ่มควรได้รับความเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งในวันนี้ได้มีการรับรองแถลงการณ์ผู้นำ EAS ว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิต ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
เป้าหมายสำคัญลำดับต้นอีกประการหนึ่ง คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยไทยพร้อมร่วมมือกับสมาชิก EAS ในการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมของอาเซียน และมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการฟื้นฟูการเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยว ตามแนวทางภายใต้แถลงการณ์ผู้นำ EAS ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งไทยร่วมอุปถัมภ์ นอกจากนี้ ไทยยินดีร่วมมือกับทุกประเทศในการดำเนินการตามแถลงการณ์ EAS ว่าด้วยการฟื้นฟูที่ยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากโมเดลเศรษฐกิจ BCGตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นท้าทายระดับโลก อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเป็นพื้นฐานสำคัญของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ซึ่ง EAS เป็นกลไกหลักที่เปิดโอกาสให้สามารถหารือกันได้อย่างเปิดเผยและสร้างสรรค์ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยยึดมั่นความเป็นแกนกลางของอาเซียน ในสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขสถานการณ์ในทะเลจีนใต้โดยสันติวิธี และพร้อมสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการผลักดันความร่วมมือบนหลักการ 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี โดยหวังจะเห็นความคืบหน้าของการเจรจาและความร่วมมือที่นำไปสู่คาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำจุดยืนตามพันธกรณีที่มีต่อข้อตกลงระดับภูมิภาค และส่งเสริมให้ฝ่ายต่าง ๆ เคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์ รวมถึง Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons (NPT) ทั้งนี้ ไทยไม่ประสงค์จะเห็นความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างมิตรประเทศ และเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศในโลกต่างมีเป้าหมายพื้นฐานร่วมกันในการสร้างสรรค์ให้ประเทศและโลกนี้มีความสงบและสันติ และให้ประชาชนทุกคนมีความสุขและมีสุนทรียภาพในชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น