ผู้ว่าฯระยองจับมือโครงการ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste ขยายโมเดลจัดการพลาสติกใช้แล้ว สู่ 68 เทศบาลมุ่งเป็นต้นแบบยั่งยืน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564

ผู้ว่าฯระยองจับมือโครงการ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste ขยายโมเดลจัดการพลาสติกใช้แล้ว สู่ 68 เทศบาลมุ่งเป็นต้นแบบยั่งยืน


ตามที่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ร่วมลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือ โครงการ “Rayong Less-Waste” (ระยอง เลสเวสท์) ร่วมกับ PPP Plastics กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท้องถิ่นจังหวัดระยอง และพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชนและให้ความรู้ในโรงเรียน

ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครอบคลุมครบทั้ง 68 เทศบาล เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพของพลาสติกใช้แล้วให้สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น เป็นการสร้างอาชีพ ลดปริมาณขยะไปหลุมฝังกลบ รวมถึงสนับสนุน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณพลาสติกใช้แล้วและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี


โครงการ “Rayong Less-Waste” ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance To End Plastic Waste ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก โครงการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการระยองโมเดล ซึ่ง PPP Plastics และจังหวัดระยองได้ร่วมกับ 18 อปท. สร้างโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชน โดยในปี 2562 และ 2563 สามารถเพิ่มปริมาณพลาสติกสะอาดที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 700 ตัน

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภค คือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือนในชุมชน เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ขอขอบคุณกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย PPP Plastics และ Alliance to End Plastics Waste รวมถึง ทุกเทศบาลทุกหน่วยงานและทุกคนที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลังสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า “โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics จะร่วมผลึกกำลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง


โดยจะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 พร้อมทั้ง การผลักดันในเชิงนโยบายและเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การปลูกจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะได้มีการดำเนินงานในบริบทที่มีความสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green:

BCG Model) ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ อีกด้วย

ทั้งนี้ BCG โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลควบคู่กันไปด้วย ในขณะที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น"

นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมฯ มีความพร้อมในการร่วมดำเนินโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมย์และวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มพันธมิตร AEPW และจังหวัดระยอง โดยนอกเหนือจากการคัดแยกขยะและขยายผลชุมชนต้นแบบแล้ว เรายังมองไปถึงแนวทางในการจัดการขยะพลาสติกตลอด Supply Chain ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ทั้งนี้ ยังเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคตอีกด้วย ”

นายสมชาย รุ่งเรือง ท้องถิ่นจังหวัดระยอง กล่าวเสริมว่า “ในนามของจังหวัดระยองและในฐานะคณะทำงานฯ เรายินดีให้การสนับสนุนโครงการ “Rayong Less-Waste” เพื่อผนึกกำลังสร้างระยองต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมความรู้สร้างความตระหนักและ

ความร่วมมือในการเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในชุมชน ส่งเสริมให้มีระบบการจัดการขยะและคัดแยกที่ดีเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้สูงขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในทะเลที่ต้นทางมาจากบนฝั่ง”







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น