ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทยมีฝนตกชุกและในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นอย่างมากและได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-4 ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัย พร้อมทั้งติดตามและรายงานความเสียหาย เพื่อเตรียมพร้อมในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยให้สำนักงาน คปภ. ภาค ภาค 1-4 ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด ในส่วนของสำนักงาน คปภ. ภาค ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบได้กำชับให้เฝ้าระวัง เพื่อเตรียมความพร้อม และให้บูรณาการร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีหนังสือถึงนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้แจ้งบริษัทสมาชิก ได้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัย พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบความเสียหายเพื่อเตรียมพร้อมในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบภัยรีบสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะรถยนต์ที่มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป และระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย
ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยแสดงรายละเอียดของความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน
ส่วนกรณีเสียชีวิตให้แสดงหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้ว่า ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร โดยกรมธรรม์ประกันภัย ที่ให้ความคุ้มครองถึงภัยน้ำท่วม อาทิ การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและการประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันภัยทุเรียน เป็นต้น การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติอีก 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและลูกเห็บ) รวม 20,000 บาทต่อปี และการประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติ 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและลูกเห็บ) รวม 10,000 บาทต่อปี
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความห่วงใยและขอส่งกำลังใจไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ และขอให้พี่น้องประชาชน ได้ตระหนักว่าปัจจุบันภัยธรรมชาติได้สร้างความสูญเสียหรือความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากประชาชนทำประกันภัยไว้ก็จะเป็นการช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อน และความเสียหายทางการเงินที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิต หรือการประกันภัยทรัพย์สินต่าง ๆ โดยสำนักงาน คปภ. จะดูแลเพื่อให้ระบบประกันภัยเยียวยาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างเต็มที ทั้งนี้ หากมี ข้อสงสัยหรือมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือติดต่อได้โดยตรง ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด ทั่วประเทศ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น