“วราวุธ” เผย ศรส. พบตัวเลข ความรุนแรงในครอบครัว มากที่สุด ถึง 68.53% - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“วราวุธ” เผย ศรส. พบตัวเลข ความรุนแรงในครอบครัว มากที่สุด ถึง 68.53%


เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.67 ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวง พม. ครั้งที่ 6/2567 ประจำเดือนมิถุนายน 2567 ว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ดำเนินการเร่งรัด จัดการ ในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนและกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งทีมชุดปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อยกระดับการบริการประชาชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมี ศรส. จังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่มีกลไกการขับเคลื่อนผ่านการรับแจ้งเหตุ ศรส.ส่วนกลาง ศรส.จังหวัด รวมถึงระบบการติดตามความช่วยเหลือ (E-Tracking) ทั้งนี้ สามารถสรุปผลการดำเนินงาน ศรส. ประจำเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 ได้ดังนี้


1. การช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 6,655 กรณี แบ่งเป็น 1.1) พื้นที่ของการช่วยเหลือและคุ้มครอง จะเป็นพื้นที่ภูมิภาคและปริมณฑลมากที่สุด มีจำนวน 4,666 กรณี คิดเป็นร้อยละ 70.11 และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 1,989 กรณี คิดเป็นร้อยละ 29.89 และ 1.2) ประเด็นปัญหาของการช่วยเหลือและคุ้มครองมากที่สุดคือ ปัญหาด้านรายได้ความเป็นอยู่ จำนวน 3,424 กรณี รองลงมาคือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว จำนวน 1,725 กรณี และปัญหาด้านคนเร่ร่อน/ขอทาน จำนวน 619 กรณี

2. ประเด็นที่น่าห่วงใย จากสถิติข้อมูลการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 พบว่า ปัญหาด้านรายได้ความเป็นอยู่ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว และปัญหาด้านความรุนแรงจะเป็นปัญหาที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของการช่วยเหลือและคุ้มครองทุกเดือน


3. การช่วยเหลือและคุ้มครอง กรณีปัญหาความรุนแรง ประจำเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 373 กรณี (410 ราย) แบ่งเป็น ประเด็นที่หนึ่ง ความรุนแรงที่เกิดภายในครอบครัว มีจำนวน 281 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.53 ประเด็นที่สอง ความรุนแรงที่เกิดกับเพศหญิง มีจำนวน 302 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.65 ซึ่งมากกว่าความรุนแรงที่เกิดกับเพศชายที่มีจำนวน 108 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.34 ประเด็นที่สาม ความรุนแรงเกิดขึ้นกับเด็กมากที่สุด มีจำนวน 223 ราย คิดเป็นร้อยละ 54.39 ประเด็นที่สี่ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและผู้สูงอายุนั้น เกิดขึ้นภายในครอบครัวเพียงอย่างเดียว โดยเป็นการถูกทำร้ายร่างกายเป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เริ่มเปราะบางมากขึ้น หรือความเข้มแข็งของครอบครัวเริ่มอ่อนแอลง หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย


นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. จะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และการส่งเสริมด้านรายได้ โดยดำเนินการดังนี้ 1) การเพิ่มโอกาส และสร้างความตระหนักให้กับประชากรวัยทำงานพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill / Upskill) รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ และบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน (ทั้งอุปสงค์และอุปทาน) 2) การส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ ด้วยการกระจายงานสู่พื้นที่สู่ชุมชน 3) การส่งเสริมการออม สร้างแรงจูงใจให้ประชากรในวัยทำงานออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ (ออมภาคบังคับ) 4) การส่งเสริมสุขภาพของประชากรในวัยทำงาน และ 5) มาตรการส่งเสริมสมดุล ชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว (เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษีหรือการยกย่องทางสังคมให้แก่นายจ้างที่จัดสวัสดิการดูแลเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ ให้แก่ลูกจ้างการทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งเสริมบทบาทชายหญิงในการร่วมกันดูแลครอบครัว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น