นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้ ตนได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวง พม. 4 ด้าน เพื่อให้นำไปใช้ในการดำเนินงานระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 1) คุณภาพครอบครัว 2) การคุ้มครองทางสังคม ด้วยระบบสวัสดิการสังคม 3) หุ้นส่วนทางสังคม ที่เป็นภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และ 4) องค์กรสมรรถนะสูง ที่เชื่อมโยงการทำงานกับระบบเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้ง กระทรวง พม. กำลังขับเคลื่อนเป็นองค์กรดิจิทัลด้วยการทำงานด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และจะมีการปรับรูปแบบการสื่อสารจากพื้นที่ที่ห่างไกลเพื่อไม่ให้เกิดการติดขัด โดยจะมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับบุคลากรในพื้นที่ต่างๆ
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลทั่วประเทศ ต้องมีคุณภาพและต้องมีชีวิต โดยหน่วยงานทีม One Home พม.จังหวัด ต้องทำงานร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) สภาเด็กและเยาวชน และต้องมีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายจากระบบ TPMAP และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อีกทั้งมีการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหา ได้แก่ การศึกษา ที่อยู่อาศัย อาชีพรายได้ และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลต้องมีแผนในกลุ่มศูนย์ฯ ระดับ A อาทิ การบริหารจัดการเงินสงเคราะห์ต่างๆ และการบันทึกข้อมูลการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระบบ MSO-LOGBOOK อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีเป้าหมายในการเพิ่มศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลอย่างมีคุณภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สายด่วน พม. โทร. 1300 ระดับจังหวัด ต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งจังหวัดมุกดาหารสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นได้ ด้วยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเป็นอย่างดี จนทำให้ไม่ถึงการเป็นข่าว เพราะเราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดปัญหาได้ แต่ที่สำคัญคือ เมื่อเกิดปัญหาแล้วเราแก้ไขได้ อีกทั้งเรามีระบบที่เข้มแข็งมากขึ้น ทำให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาภายในจังหวัดได้ สำหรับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดต้องประสานความร่วมมือกับตำรวจและทีมสหวิชาชีพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องกลไกการส่งต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งปีนี้ สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
#ช่วย24ชั่วโมง#พม24ชม#ข่าวพม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น