นายกฯ ประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน....D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

นายกฯ ประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน....D

นายกฯ ประชุมบอร์ด ป.ย.ป. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ย้ำสร้างการรับรู้ถึงความสำเร็จของผลการดำเนินงานที่ผ่านมา-แนวทางขับเคลื่อนระยะต่อไป เพื่อทำให้ประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอนาคต มุ่งสร้างผลงานเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 66 เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ป.ย.ป. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วน เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและการดำเนินงานของ ป.ย.ป. รวมถึงความสำเร็จของผลการดำเนินงานที่ได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนตลอดระยะที่ผ่านมา รวมทั้งแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนระยะต่อไป เพื่อทำให้ประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ พร้อมย้ำให้ทุกคนมุ่งทำงานในการสร้างผลงานเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมประจักษ์แก่สังคม โดยคำนึงถึงการเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการทำงานของสำนักงาน ป.ย.ป. ทุกคนต้องรู้ทุกเรื่อง ทั้งงานในหน้าที่ของ ป.ย.ป. ที่รับผิดชอบขับเคลื่อนโดยตรง และงานที่หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ให้เกิดการทำงานอย่างประสานสอดคล้องเป็นเอกภาพภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมไปถึงการติดตามบริบทและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งสถานการณ์ในประเทศและสถานการณ์ต่างประเทศ เช่น สถานการณ์ด้านการเงินการคลัง ทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศ ฯลฯ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยและความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความเท่าเทียมของโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐและอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน รวมทั้งเกิดความเป็นธรรมในการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงการดูแลผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ผ่านมาตรการและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนโครงการอื่น ๆ ผ่านการดำเนินงานของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มของประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มแท้จริงในหลายด้าน เช่น การใช้ระบบ e-Document ของหน่วยงานราชการ การขับเคลื่อน EEC นโยบายการกระจายอำนาจ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง การส่งเสริมการลงทุน นโยบายการกีดกันทางการค้า นโยบาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การค้าขายคาร์บอนเครดิต โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเชื่อมโยงครบวงจร นโยบายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นโยบายขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร นโยบายการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความจำเป็น แก้ปัญหาเรื่องเพาะปลูกในเรื่องปุ๋ยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ การแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร เน้นการป้องกันปราบปราม และการบำบัดรักษา การแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชน และปัญหาที่ดินทับซ้อน เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องถึงประโยชน์ต่าง ๆ ที่ประชาชนได้รับจากการดำเนินการดังกล่าว เพื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน

ที่ประชุมติดตามการดำเนินงานของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายเรื่อง เช่น การขับเคลื่อนโครงการภายใต้กิจกรรม Big Rock สำนักงาน ป.ย.ป. ได้พัฒนาระบบรับเรื่องข้อขัดข้อง(https://thailandbigrock.sto.go.th) เพื่อเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ในการทำงานร่วมกัน โดยได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ด้วยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับเรื่องที่มีการรายงานเข้ามาในระบบรับเรื่องข้อขัดข้อง จำนวน 38 เรื่อง จากจำนวนทั้งสิ้น 40 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนกิจกรรม/โครงการ และติดตามการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock จำนวน 23 กิจกรรม อาทิ

(1) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดการประชุมเพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วนในสังคม เสนอแนะความคิดเห็นอันนำไปสู่แนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติจริง
(2) ประเด็นการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ย.ป. ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการใช้งานระบบ e-Document ผ่าน e-Service Catalog เพื่อเร่งระบบการทำงานภายในส่วนราชการให้สามารถลดการใช้กระดาษ และพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์
(3) ประเด็นการปฏิรูปด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค จำนวน 1,094 กระบวนงาน (https://sto.go.th/th/highlight/313)
(4) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนให้มีทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ
(5) ประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการปรับแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อรองรับกับการประกอบธุรกิจโรงแรมให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจแบ่งปัน และธุรกิจการจองที่พักผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นต้น

(6) ประเด็นการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการสนับสนุนการรักษาพื้นที่ป่าโดยร่วมวางแผนปัญหางบประมาณการดำเนินการของศูนย์ข้อมูลและเตือนภัยพิบัติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(7) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) และข้อมูลผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์ม “Health Link”
(8) ประเด็นการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการประสานการทำงานระหว่างศูนย์ประสานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center) กับหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงในข่าวปลอม
(9) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประสานการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการพัฒนาแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการแก่คนพิการอย่างไม่หยุดนิ่ง
(10) ประเด็นการปฏิรูปด้านพลังงาน สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประสานและบูรณาการการทำงานระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรค เช่น การตั้งคำของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Companies: ESCO) ได้จริง

(11) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมดำเนินการติดตามและขับเคลื่อนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย จำนวน 6 ฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2563 มาตรา 130 เป็นต้น
(12) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินการมุ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และยกระดับระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และ
(13) ประเด็นการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem)

รวมทั้งติดการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยและความเหลื่อมล้ำ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการประกวดรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน โดยสามารถกระตุ้นให้เกิดการนำต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจประเมินให้คะแนนเพื่อคัดกรองรางวัลที่ผ่านการประเมิน คาดว่าจะมีการจัดงานมอบรางวัลเลิศรัฐในเดือนกันยายน 2566 และผลงานที่ได้รับรางวัลจะสามารถนำไปขยายผลให้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืนต่อไป โดยสำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินโครงการสร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน โดยเน้นในเชิงนวัตกรรมกระบวนการผ่านการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง จำนวน 3 พื้นที่ใน 2 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ตำบลดอยงาม อำเภอพาน พื้นที่ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร มีสรุปผลจากเป็นต้นแบบนโยบายจากทั้ง 3 พื้นที่ ผลการถอดบทเรียนได้ปัจจัยความสำเร็จในภาพรวม รวมถึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ หรือการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบและเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ย.ป. ดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมสำคัญในระยะต่อไป เพิ่มเติม 5 เรื่อง ได้แก่ (1) การสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีปรองดอง (2) การปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (3) หลักสูตร ป.ย.ป. (4) ระบบเสนอแนะข้างทำเนียบ และ (4) การใช้ระบบ e-Document ของหน่วยงานราชการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น