สภากทม. เปิดประชุมสมัยแรก รับปี 66 ส.ก.ลงมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยกทม. ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย/ผู้ด้อยโอกาส - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2566

สภากทม. เปิดประชุมสมัยแรก รับปี 66 ส.ก.ลงมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยกทม. ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย/ผู้ด้อยโอกาส

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.66 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ตามญัตติของนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขต เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ตามญัตติของนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสร้างโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

จากนั้น สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ในวาระที่สองและวาระที่สาม 2 ญัตติ ตามที่ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเสนอ ดังนี้ นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองเตย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ…. ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับเป็นเวลานานมีเนื้อหาไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยยึดหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบ และเห็นควรให้มีการแก้ไขร่างข้อบัญญัติในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มคำนิยาม “ผู้มีรายได้น้อย” และ “ผู้ด้อยโอกาส” ดังนี้

“ผู้มีรายได้น้อย” หมายความว่า ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผู้มีรายได้แต่ละเดือนไม่แน่นอน เช่น อาชีพรับจ้างทั่วไป รับจ้างรายวัน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม่บ้าน เกษตรกร ค้าขายประเภทหาบเร่แผงลอย
2.กลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน เช่น พนักงานลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด

“ผู้ด้อยโอกาส” หมายความว่า ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม อัคคีภัย ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม และสาธารณภัย รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนผู้ประสบปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรหลักรับผิดชอบอันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับผู้อื่น เช่น คนยากจน คนเร่ร่อน ผู้พ้นโทษ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และครอบครัว หรือตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์ และจะจัดส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป

*สภากทม.เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ….. วาระสองและวาระสาม ให้ ส.ก.ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณารางวัล สร้างเป็นธรรมให้หน่วยงาน *


จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ….. ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม

นายสุทธิชัย ได้กล่าวขอบคุณกรรมการทุกท่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้คณะกรรมการวิสามัญฯ สามารถพิจารณาร่างข้อบัญญัติฉบับนี้แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทำให้ข้าราชการมีการแข่งขันกันในระดับองค์กร และสำนักงานเขตได้มีโอกาสแข่งขันเท่าเทียมกับหน่วยงานระดับสำนัก รวมถึงร่างข้อบบัญญัติฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ส.ก.ได้มีโอกาสเข้าร่วมพิจารณาประเมินผลหน่วยงาน ร่วมกับผู้แทนซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง เพื่อให้การพิจารณารางวัลมีความเป็นธรรมมากที่สุด

สำหรับ “รางวัลคุณภาพการให้บริการ” หมายความว่า รางวัลที่ให้แก่หน่วยงานตามผลการประเมินและพิจารณาตัดสินคุณภาพผลงานของหน่วยงานระดับกรุงเทพมหานครและระดับสำนักงานเขต ประเภทกระบวนงาน นวัตกรรมการให้บริการ การมีส่วนร่วมหรือประเภทอื่นตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนด”

โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ประเภท การกำหนดอัตรา และการเบิกจ่ายเงินรางวัลคุณภาพการให้บริการให้แก่หน่วยงาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด และให้มีคณะกรรมการพิจารณารางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือรองปลัดกรุงเทพมหานครที่ปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมายเป็นประธาน ประธานสภากรุงเทพมหานครหรือรองประธานสภากรุงเทพมหานครที่ประธานสภากรุงเทพมหานครมอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งจำนวนสองคน เป็นกรรมการ เลขานุการจำนวนหนึ่งคน และผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคนให้ประธานแต่งตั้ง

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ….. ในวาระที่สองและวาระที่สาม และจะจัดส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น