นายกิตติ กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มากขึ้น โดยนำมาเป็น “เครื่องมือ” ในการรักษาความชอบธรรมต่อสายตาสาธารณะไปพร้อมกับการสร้างการเติบโตทางธุรกิจขององค์กรในระยะยาว ซึ่งบริบทและพัฒนาการของ CSR ประเทศไทย มีเอกลักษณ์และฐานคิดสำคัญมาจาก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้สำคัญกับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่ยั่งยืน โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจระดับกรมและระดับจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ ศูนย์ฯ แห่งนี้มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางทุกมิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือและพัฒนาครัวเรือนเปราะบางไปแล้ว 610 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 58 ล้านบาท และปัจจุบันได้ขยายครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจด้าน CSR ที่ทำงานร่วมกับกระทรวง พม.ถึง 804 บริษัท
พม. ต้องการยกระดับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ โดยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความเป็นผู้นำ มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ และมีทักษะในการปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่พึงได้รับ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นายกิตติ กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น