ปลัด พม. รับ 4 ข้อเสนอจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่าย ประกาศบูรณาการยุติความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ปลัด พม. รับ 4 ข้อเสนอจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่าย ประกาศบูรณาการยุติความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี




เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 เวลา 11.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) รับมอบข้อเสนอเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2565 จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยมี นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมรับมอบข้อเสนอ ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.



นายอนุกูล กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งปีนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง และวันนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้มามอบข้อเสนอต่อกระทรวง พม. จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ 1) ขอให้เร่งพัฒนาคุณภาพช่องทางและระบบรับแจ้งเหตุที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงง่าย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานให้การช่วยอย่างรวดเร็ว และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง 2) มีระบบส่งต่อการแก้ปัญหา ระบบติดตามผล ทั้งรูปแบบ Online และ Real - time โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน มีอำนาจติดตามผลข้ามหน่วยงาน จัดสรรกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกระยะ ให้มีจำนวนเพียงพอ ครอบคลุม ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ มีการจัดสรรงบประมาณให้อยู่ในกรอบงบประมาณประจำ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม และสนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้บริการแก่ผู้ประสบปัญหาความรุนแรง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 3) ขอเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวง พม.ในการกำกับดูแลสถานสงเคราะห์ในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีการทำร้ายร่างกายเด็ก เพื่อทำความจริงให้ปรากฏว่ามีการปล่อยปละละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และหากพบความผิด ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวควรมีผู้แทนจากองค์กรภายนอกร่วมด้วย เช่น มูลนิธิเส้นด้าย หรือสถานศึกษา หน่วยงานทางวิชาการภายนอก เป็นต้น และ 4) ผลักดันให้มีผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่การถ่ายโอนจากภาคราชการ แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ จิตวิญญาณใหม่ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อสู่เป้าหมายใหม่ที่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเด็กสำหรับเด็กทุกคน





นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. พร้อมรับข้อเสนอทั้ง 4 ข้อไปดำเนินการ ซึ่งบางเรื่อง กระทรวง พม.ได้ขับเคลื่อนงานไปแล้ว อาทิ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ได้ดำเนินการ Restat เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะมีเรื่องร้องเรียนคงค้างจำนวนมาก รวมถึงการเพิ่มและพัฒนาบุคลากรที่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และจะต้องทำให้เป็นมืออาชีพเพื่อเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งต้องทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะกลไกระดับจังหวัด อาทิ ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ที่มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคมในพื้นที่ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็ก สตรี และครอบครัว

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวง พม. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีการกระทำความรุนแรงและใช้แรงงานเด็ก กระทรวง พม. ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากเป็นการทำงานที่เป็นจุดอ่อนในพื้นที่ จะไม่มีการละเว้น ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งของกลไกระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งให้ภาคีเครือข่าย อย่างเช่น มูลนิธิเส้นด้าย เข้ามาช่วยชี้จุดอ่อนเพื่อร่วมแก้ปัญหา ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้มีผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องใหม่ โดยจะนำไปหารือในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องชุดต่างๆ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น